วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

‘ธเนตร’ ประกาศลงสมัครผู้ว่า กทม. ชูแนวคิดแก้รถติด ย้ายที่พักใกล้ที่ทำงาน เพิ่มรายได้ 10 เท่าไม่กระทบงานประจำด้วยธุรกิจเครือข่าย แก้ฝุ่นพิษ ปลูก Silver Oak คนละต้น



วันนี้ (30 มี.ค. 65) นายธเนตร วงษา ประกาศลงเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามอิสระ ชูนโยบาย “รถไม่ติด เศรษฐกิจดี สุขภาพแข็งแรง” แก้ปัญหารถติด ด้วยการย้ายที่อยู่ไปอยู่ใกล้ที่ทำงาน แนะแนวทางเพิ่มรายได้ให้คนเมือง 10 เท่า โดยไม่กระทบกับงานประจำ ด้วยการทำธุรกิจเครือข่ายที่มีคุณภาถ และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดฝุ่น pm2.5 



"ธเนตร วงษา” แถลงข่าวเปิดตัวลงสมัครผู้ว่า กทม. ชูแนวคิด แก้รถติด ได้แน่นอน ภายใน 21 วัน หากได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยตนทำได้มา 38 ปีแล้ว ตั้งแต่ตอนยังไม่ร่ำรวย คือวิธี “ย้ายที่พักอาศัย ไปอยู่ใกล้ที่ทำงาน” เพราะความจริงในทุกสถานที่แม้จะเป็นย่านเศรษฐกิจ ก็จะมีที่พักที่มีราคาที่เหมาะสม ย้ำคือความท้าทาย ที่คนเป็นผู้นำจะทำได้ พร้อมยกตัวอย่างเช่นผู้ประกอบอาชีพพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ร้านอาหารของตน ก็มีห้องพักอยู่ใกล้ร้าน ไม่รถติด หรือผู้ประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คอนโดของตน แถบพระราม 9 ก็มีที่พักอยู่ใกล้ที่ทำงาน ไม่ต้องทนรถติด เชื่อว่าผู้คนกลุ่มนี้ทำได้ ทุกคนก็ทำได้


นอกจากนี้ มีนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นพิษ pm2.5 จากการไปเห็นวิธีการนี้ที่ต่างประเทศ คือการให้คนกรุงเทพปลูกต้น silver oak คนละ 1 ต้น รวม 10 ล้านต้น เขียนชื่อของตัวเอง เพื่อสร้างแบรนด์ ให้ต้นไม้ฟอกอากาศ กรุงเทพอาจมีอากาศที่ดีแบบประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้


นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ไม่กังวลที่ลงสมัครผู้ว่า เพราะมีผลงาน ชีวิตประสบความสำเร็จ และอยากส่งต่อแนวคิดให้คน กทม.มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้คนจะมองว่าเป็นไม้ประดับก็ไม่กังวล พร้อมให้ผู้ได้รับเลือกนำแนวนโยบายของตนไปปรับใช้ได้

พร้อมแนะว่า ให้คนกรุงเทพ เลือกผู้ว่าฯ ที่มีคุณสมบัติ 5 ข้อ ต่อไปนี้ ได้แก่ เก่ง เป็นคนดี มีความสุข มีสัจจะ และไม่คอร์รัปชั่น

“ทุกปัญหามีทางออก คนเราขอให้มีเงิน มีงบประมาณ ไม่คอร์รัปชั่น ทุกอย่างจบ” นายเธตร กล่าว


สำหรับนายเธนตร มีภูมิลำเนาที่จังหวัดกาญจนบุรี ศึกษาที่จังหวัดจันทบุรี และทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเมื่อปี 2527 ลาออกปี 2537 ทำธุรกิจเครือข่ายจนถึงปัจจุบัน และมีธุรกิจร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ เคยเขียนหนังสือ “ขยันถูกที่ ปีเดียวรวย” มียอดตีพิมพ์กว่า 300,000

ทีมข่าวภาคสนาม/รายงาน

วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565

เครือข่ายไฟฟ้าประปาและยา เพื่อชาติประชาชน (คฟปย.) แถลงการณ์ “รัฐวิสาหกิจ ไม่ทอดทิ้งประชาชน”

 



เครือข่ายไฟฟ้าประปาและยาเพื่อชาติประชาชน 

ฉบับที่ 1/2565 

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) 

ตาม “พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 หมวด 4 สหภาพแรงงาน มาตรา 40 (4)  

ดำเนินการและให้ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ” จึงเกิดการรวมตัวของ 

สหภาพแรงงานเป็นเครือข่ายไฟฟ้าประปาและยาเพื่อชาติประชาชน (คฟปย.) อันประกอบไปด้วยสหภาพแรงงานที่ 

เป็นองค์กร ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของชาติ ได้แก่ 

1. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) 

2. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) 

3. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (สภฟ.) 

4. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวง (สร.กปน.) 

5. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) 

6. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.)




ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนอันเป็นภารกิจหลักของ คฟปย. ต่อสถานการณ์โรคโควิด -19 ที่ยังระบาด 

อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังคงมีผลทำให้การดำรงชีพ การท ามาหากินเป็นไปอย่างยากลำบากต่อการครองชีพในปัจจุบัน 

คฟปย. จึงได้จัดประชุมเสวนาถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลต่อภาวะการครองชีพ ของ 

พี่น้องประชาชน การต่อสู้กับโรคโควิด 19 โดยรัฐบาลมีนโยบาย ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) การปล่อยให้เอกชนเข้า 

มาดำเนินการ ขายน้ำประปาในเขตภาคตะวันออก และการจัดหายา เวชภัณฑ์ ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด 19 อันจะทำ 

ให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น



โดยผลสรุปของการเสวนา ของ คฟปย. ขอเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ 

1 รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) โดยเฉพาะเอกชนผู้ผลิต ต้องมีส่วนร่วม และเพิ่ม สัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้า ของภาครัฐตามรัฐธรรมนูญ  

2 รัฐบาลต้องคงไว้ซึ่งรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภค รัฐจะต้องดูแลต้นทุนต่างๆ เช่น การเรียกเก็บ ค่าเช่าพื้นที่ใน การวางท่อประธานหรือท่อจ่ายน้ำ อย่างเช่น พื้นที่ของกรมทางหลวงและกรมธนารักษ์(วงเงินงบประมาณ 2 พันล้านบาท) ในเขตพื้นที่ภูมิภาค ในเรื่องน้ำประปา ที่ปล่อยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ภาคตะวันออก จังหวัด ปทุมธานี รัฐบาลต้องใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล และกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชน ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม



3 รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรม ผลิตยา วัคซีนและเวชภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงได้อย่างสะดวกมีคุณภาพและราคาถูก อย่างเพียงพอ 

4 รัฐบาลต้องไม่ขายรัฐวิสาหกิจ อันเป็นสมบัติของชาติและต้องไม่ทำให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแอ จนไม่สามารถ 
ดำเนินกิจการได้เพื่อคงไว้ซึ่งกิจการของรัฐที่ต้องมีไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เพราะรัฐบาลต้อง ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล รับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบาย การพัฒนา และส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนความมั่นคงของประเทศ  ทั้งนี้คฟปย. ขอยืนยันเจตนารมย์เพื่อร่วมคัดค้านการแปรรูป รัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงและ ทางอ้อม เพื่อรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติและประชาชนตลอดไป 

“รัฐวิสาหกิจ ไม่ทอดทิ้งประชาชน”


วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบตาม ว 13 บุกกระทรวงศึกษาธิการ ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม


เครือข่ายพัฒนาคุณภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบตาม ว 13 บุกกระทรวงศึกษาธิการ ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ทบทวนพิจารณารับรองคุณสมบัตืผู้เข้ารับการประเมินหลังไม่ได้รับความเป็นธรรม



โดยเครือข่ายพัฒนาคุณภาพผู้ได้รับผลกระทบตาม ว 13 ที่ประกอบด้วยครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งประเทศ จำนวน 1933 ราย นำโดยนายอาทร  บุญคุ้มครอง  ประธานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพผู้ได้รับผลกระทบตาม ว 13 พร้อมสมาชิก กว่า 100 นาย ทั่วประเทศ รวมพลังเดินหน้าเรียกร้องคืนสิทธิการรับรองคุณสมบัติเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์และวิธีการ ว 13 ในการเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณารับรองคุณสมบัติเข้ารับการประเมินจากมติคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ว 13/2556



ทั้งนี้เมื่อปี  2559 ได้มีครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ได้เสนอขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญเชิงประจักษ์ จำนวน 5337 ราย ผลการพิจารณาได้รับการรับรองคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน จำนวน 400 รายเศษ เป็นผู้ขอเลื่อนวิทยฐานะที่เสนอรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป (รางวัลตรง) ทั้งสิ้น ส่วนผลงานดีเด่นที่ส่วนราชการเห็นว่ามีคุณภาพเทียบเคียงได้กับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป(ผลงานเทียบเทียบเคียง) ไม่ได้รับการรับรองแต่อย่างใด


เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563  ก.ค.ศ. ออกมติให้ผู้ไม่ได้รับรองคุณสมบัติที่ขอเลื่อนวิทยฐานะ ในปีดังกล่าว ขอทบทวนมติ ก.ค.ศ. ได้หากเห็นว่า ก.ค.ศ. คลาดเคลื่อน ได้มีผู้ขอทบทวนมติ ก.ค.ศ. จำนวน 1933 ราย ซึ่งขณะนี้ ก.ค.ศ. ได้พิจารณาและรับรองคุณสมบัติเข้ารับการประเมินเพียง 163 ราย ที่เป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป (รางวัลตรง)ทั้งหมด  กรณีผลงานเทียบเคียงที่ก.ค.ศ. เคยรับรองคุณสมบัติเข้ารับการประเมินและอนุมัติมาแล้ว จำนวน 53 ผลงาน ซึ่ง ครู ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา เสนอขอผลงานเทียบเคียงเดียวกันแต่ไม่ได้รับการรับรองคุณสมบัติ  จึงไม่ได้รับความเป็นธรรม และเชื่อว่า ก.ค.ศ. ละเมิดหลักเกณฑ์และวิธีการ ว 13/2556 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งศาลปกครองพิษณุโลกได้ออกคำพิพากษากรณี

นายบรรเทิง  ทานะขันธ์ ฟ้อง ก.ค.ศ. ไม่รับรองผลงานเทียบเคียง ลำดับที่ 1 และ 2  โดยให้เหตุผลว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้มีมติไม่รับรองเป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติแต่ผู้ฟ้องคดีนำมาเสนอเป็นผลงานเทียบเคียงจึงไม่สามารถเทียบเคียงได้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ศาลพิพากษาให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้อง


ก่อนหน้านี้เครือข่ายร้องขอความเป็นธรรมต่อทั้งเลขาธิการ ก.ค.ศ. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้ ก.ค.ศ. ชลอการพิจารณาการขอทบทวนไว้เป็นการชั่วคราว และเสนอตั้งคณะกรรมภาคีที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการขอทบทวนมติ ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณาแก้ปัญหา แต่ ก.ค.ศ. ไม่ชลอการพิจารณา และไม่หาแนวทางแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด กลับดำเนินการพิจารณาการขอทบทวนมติ ก.ค.ศ. และไม่แก้ปัญหา อุปสรรคความไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด พิจารณาวันๆ ละประมาณ 200 ราย ซึ่งเป็นการพิจารณาที่ขาดความเป็นธรรม ผิดปกติ ไม่ให้ความเสมอภาคผลงานเทียบเคียงที่ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากร เสนอขอทบทวน ด้วยการชี้แจงองค์ประกอบตามข้อ 13 ของผลงานเทียบเคียง 4 องค์ประกอบอย่างชัดเจนแล้ว สนับสนุนเอกสาร หลักฐาน แต่จากผลการพิจารณาของ ก.ค.ศ. ผู้ขอทบทวนมติ ก.ค.ศ. รางวัลสูงสุดระดับชาติอีกจำนวนหนึ่ง และคำขอทบทวนที่มีผลงานเทียบเคียงด้วยจำนวนประมาณ 1600 ราย ไม่ได้รับการรับรองคุณสมบัติเข้ารับการประเมินเลยสักราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบั่นทอนขวัญ กำลังใจ เพิ่มความเครียด ความวิตกกังวล ต่อผู้เสนอขอทบทวนมติ ก.ค.ศ. ที่รอคอยด้วยความหวังมาเป็นเวลานานร่วม 6ปี กลับไม่ได้รับการรับรองคุณสมบัติเข้ารับการประเมินแต่อย่างใด


วันนี้จึงขออ่านแถลงการณ์ และ3ข้อเรียกร้องต่อ รมว.ศึกษาธิการหรือตัวแทน คือ

    1. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้ก.ค.ศ หรือหยุดการประกาศผลคุณสมบัติ ผู้เข้ารับการประเมิน การขอทบทวนมติกคศไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาและรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกรณีที่มีการฟ้องกยทไปแล้ว

    2.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบจากการพิจารณาคุณสมบัติ ดังกล่าว โดยให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ได้รับผลกระทบร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย 

3.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอมติ ก.ค.ศ.เพื่อเห็นชอบเยียวยา อนุโลมรับรองคุณสมบัติผู้เข้ารับการประเมินเฉพาะผลงานดีเด่นที่เคยรับรองและอนุมัติมาแล้วจำนวน 53 รายการ และผลงานดีเด่นอื่นที่ชี้แจงองค์ประกอบตามข้อ 13 โดยยึดตามแนวทางคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก


อย่างไรก็ตามทางกระทรวงให้ตัวแทนรัฐมนตรีลงมารีบ และขึ้นไปพูดคุยปัญหา เบื้องต้นรับปากจะนำขัอเรียกร้องไปยื่นให้รัฐมนตรี ซึ่งเป็นการรับปากแบบนี้เป็นปีที่ 6 โดยยื่นผ่านรัฐมนตรีว่าการ ถึง 4 ท่าน ด้วยกัน

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน มอบอาชีพ “สร้างชีวิต” อย่างยั่งยืนแก่ครัวเรือนยากจนจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง

 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน มอบอาชีพ “สร้างชีวิต” อย่างยั่งยืนแก่ครัวเรือนยากจนจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง



วานนี้ (วันพุธที่ 23 มีนาคม 2565 ) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดย นายสุรพงษ์  เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางจินดา บุญลาภทวีโชค กรรมการตรวจสอบ นายวิชิต  ชินวงศ์วรกุล กรรมการ และนายชาญกิจ  วิทยาวรากรณ์ กรรมการ ร่วมในพิธีมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง รวม 27 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่า จำนวน  386,510 บาท (สามแสนแปดหมื่นหกพันห้าร้อยสิบบาทถ้วน)  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ ”บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ” ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  โดยมี นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานร่วมในพิธี  ณ  บริเวณหอประชุมที่ว่าการอำเภอสันป่าตอง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่  และ หอประชุมจังหวัดลำปาง  อำเภอเมือง  จังหวัดลำปาง

.





นอกจากนี้  ณ หอประชุมจังหวัดลำปาง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดย นางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ได้นำทีมแพทย์อาสาและเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป และแจกแว่นสายตาฟรี โดยมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

.





ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พะเยา เชียงราย น่าน เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง รวม 13 จังหวัด 173 ครัวเรือน มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพทั้งสิ้น จำนวน 2,583,890 บาท (สองล้านห้าแสนแปดหมื่นสามพันแปดร้อยเก้าสิบบาทถ้วน)




การดำเนินการ “โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ” มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยฝ่ายสังคมสงเคราะห์  จะจัดทีมลงพื้นที่ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมให้ความรู้ ทักษะ และมีวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้จัดหาอุปกรณ์การประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนยากจน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนสร้างความสุขสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยในปีงบประมาณ 2563 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 500 ครัวเรือน งบประมาณดำเนินงานทั้งสิ้น 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) 





ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมงานสาธารณกุศลมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ 

เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung  

#ป่อเต็กตึ๊ง ยึดมั่นอุดมการณ์ อยู่เคียงข้างทุกวิกฤต 

“มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” 

#มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง110ปีความดีที่ยั่งยืน 

#แอปพลิเคชัน และ #สายด่วน ป่อเต็กตึ๊ง1418 

#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน