วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2567

มูลนิธิสหชาติ จับมือ อีสท์ วอเตอร์ สร้างครัวช้าง กลางป่าอ่างฤาไน แก้ปัญหาช้างออกนอกเขตอนุรักษ์

 มูลนิธิสหชาติ จับมือ อีสท์ วอเตอร์ สร้างครัวช้าง กลางป่าอ่างฤาไน แก้ปัญหาช้างออกนอกเขตอนุรักษ์



วันที่ 19 กันยายน ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน อ.ท่าตระเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา นายอำนวย เกษตรสินธ์นุกูล นายอำเภอท่าตะเกียบ เป็นประธาน กิจกรรม “สร้างครัวช้างเพื่อสร้างพืชอาหาร สำหรับใช้เลี้ยงช้างอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” 




นำโดย พระอาจารย์ชายกลาง อภิญาโณ ประธานมูลนิธิฯ ร่วมกับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ โดยมี ดร.ก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) นายวีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พร้อมพนักงาน และผู้นำชุมชน ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ 




คุณฉัตรแก้ว ภุมรินทร์ ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กร อีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า กิจกรรมการสร้าง “ครัวช้าง” เพื่อสร้างพืชอาหารสำหรับใช้เลี้ยงช้างอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นความร่วมมือระหว่าง อีสท์ วอเตอร์ กับ มูลนิธิสหชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ ให้มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของช้างป่า การฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งอาหาร ให้มีแหล่งอาหารเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของช้างป่า

การฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพโป่ง อันเป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญสำหรับสัตว์ป่า รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 



คุณฉัตรแก้ว กล่าวต่อว่า ในปี 2567 อีสท์ วอเตอร์ มีแผนจะดำเนินการร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องช้างป่าออกนอกเขตอนุรักษ์ และทำให้พื้นที่เกษตรกรรม บ้านเรือน รวมถึงพื้นที่ทำมาหากินเสียหาย อีสท์ วอเตอร์ จึงเข้าหารือกับพระชายกลาง ประธานมูลนิธิสหชาติ เพื่อจัดกิจกรรมปลูกพืชอาหารช้าง เพื่อสร้างพื้นที่ถาวรให้เป็นพื้นที่ในการดำรงค์ชีวิตของช้าง หรือเรียกสั้นๆว่า “ครัวช้าง” อันประกอบไปด้วยทุ่งหญ้าและโป่งเทียม บนพื้นที่ 350 ไร่ 



สำหรับพื้นที่ดังกล่าว เป็นป่าต้นน้ำประแสร์ ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำต้นทุนน้ำดิบของอีสท์ วอเตอร์ ที่อีสท์ วอเตอร์ ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ผืนป่าในภาคตะวันออก

 


ด้านพระชายกลาง อภิญาโณ กล่าวว่า การสร้างครัวช้าง เพื่อสร้างพืชอาหารสำหรับใช้เลี้ยงช้าง ถือเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวม เพื่อเป็นการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และสิ่งสำคัญสูงสุดคือการร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องช้างป่าออกนอกเขตอนุรักษ์ ให้มนุษย์และช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุข  

//

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น