ศุลกากรแหลมฉบังแจง ตู้สินค้าตกค้างท่าเรือ 1,000 ตู้ ไม่ใช่สุกรแช่แข็ง
สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการกับของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็ง ยันไม่ใช่สุกรแช่แข็ง 1,000 ตู้ ตามที่มีข่าวออกมาอย่างแน่นอน โดยเป็นตู้สินค้าคงค้างอื่นๆ ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ขณะนี้เตรียมนำสุกรแช่แข็งไปทำลายที่จังหวัดสระแก้วในเร็ว ๆ นี้แล้ว
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 66 นายฐิติพงศ์ คำผุย ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงความคืบหน้า การดำเนินการกับของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน ที่มีการนำเสนอข่าวว่ายังมีตู้ตกค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบังนับพันตู้ และตู้สินค้าคงค้างอื่นภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายวาริส วิสารทานนท์ ผู้เชียวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี นายจิระศักดิ์ จั่นบำรุง ผู้จัดการสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ชั้น 3 อาคารพิพัฒน์อากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
โดยที่ประชุม ได้มีการรายงานและรับทราบความคืบหน้า การดำเนินการกับของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 161 ตู้ การดำเนินคดีอาญากับตู้สินค้าดังกล่าว และการดำเนินการกับตู้สินค้าคงค้างประเภทภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง และตามที่มีการนำเสนอข่าวว่ามีตู้สินค้าคงค้างประเภทสุกรและอื่น ๆ จำนวนกว่า 1,000 ตู้ ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง นั้นไม่เป็นความจริง ก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบกับหลายหน่วยงาน เช่น ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ตัวแทนเรือ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และการท่าเรือแห่งประเทศไทย
สำหรับตู้สินค้าที่คงค้างในท่าเรือแหลมฉบัง ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566 มีทั้งสิ้น 937 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 679 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 258 ตู้) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ตู้สินค้าอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จำนวน 254 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 246 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 8 ตู้) 2. ตู้สินค้าที่ดำเนินการเสร็จสิ้นในขั้นศุลกากร โดยอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด/ส่งมอบ/ทำลาย จำนวน 538 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 298 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 240 ตู้) และ 3. ตู้สินค้าที่เป็นของกลางในคดีอาญา ไม่สามารถขายทอดตลาด/ส่งมอบ/ทำลาย โดยต้องรอผลคดี จำนวน 145 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 135 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 10 ตู้) โดยไม่ใช่ตู้สุกรแช่แข็งกว่า 1,000 ตู้ ที่สื่อมวลชนเสนอข่าวอย่างแน่นอน
นายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตรวจสอบตู้ทั้ง 161 ตู้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสืบสวนของดีเอสไอ ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายของศุลกากรและกรมปศุสัตว์ ในส่วนของกลางจะมีการประชุมและมีการหาพื้นที่ ในการทำลายฝังกลบเนื้อสุกรนี้แล้ว คือที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว โดยขุดหลุมขนาดความยาว 150 เมตร กว้าง 9 เมตร จำนวน 3 หลุม แสตนบายไว้อีก 1 หลุม รวมเป็น 4 หลุม รอแค่ส่งมอบเนื้อสุกรดังกล่าว เท่านั้น
นายจิระศักดิ์ จั่นบำรุง ผู้จัดการสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้า เปิดเผยว่า ที่มีข่าวว่ามีการซ่อนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเนื้อสุกร ประมาณ 1,000 ตู้นั้น ไม่เป็นความจริง ตรวจเช็คตู้ที่ทำความเย็นในวันที่ 31 กรกฎาคม มีจำนวน 218 ตู้ ส่วนเรื่องผลกระทบของผู้ประกอบการท่าเรือนั้น คือเรื่องการเรียกเก็บค่าเก็บรักษา ค่าไฟฟ้า จากผู้นำเข้า จนถึงปัจจุบันค่าไฟฟ้ามีจำนวนเงิน 46 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา จึงอยากให้ทางดีเอสไอ นำค่าเสียหายเหล่านี้รวมเข้าไปในสำนวนการสอบสวนด้วย เพราะฝ่ายตนเป็นผู้เสียหาย จากการนำเข้าเนื้อสุกรที่ผิดกฎหมาย
นายฐิติพงศ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางและของตกค้าง และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดิน ในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 มีการดำเนินการขายทอดตลาด/ส่งมอบ/ทำลาย รวมทั้งสิ้น 342 ตู้ โดยในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 204 ตู้ และปีงบประมาณ 2565 จำนวน 138 ตู้ ในส่วนปีงบประมาณ 2566 นั้น ได้ดำเนินการเกี่ยวกับตู้สินค้าของกลางของตกค้าง และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดิน เรียบร้อยแล้ว จำนวน 54 ตู้
ส่วนตู้สินค้าตกค้าง ประเภท สุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 161 ตู้ นั้น ได้มีการเปิดสำรวจอย่างต่อเนื่อง ในรูปเเบบของคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ เเละกรมปศุสัตว์ จนสำรวจเเล้วเสร็จทั้ง 161 ตู้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 และปัจจุบัน สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้เตรียมการส่งมอบสินค้าประเภทสุกรดังกล่าว ให้กรมปศุสัตว์เพื่อนำไปดำเนินการทำลาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า การทำลายสินค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นของกลางในคดีอาญา จะส่งผลให้ขาดพยานหลักฐานหรือเสียหายรูปคดีของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือไม่ ประการใด หากได้รับคำตอบเรียบร้อยแล้วจะรีบดำเนินการในลำดับต่อไปทันที พร้อมกันนี้ ได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการสายเดินเรือ เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการกับของกลางดังกล่าว ซึ่งได้รับการประสานงานในเบื้องต้นแล้วว่า ผู้ประกอบการสายเดินเรือหลายราย มีความประสงค์ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำลาย โดยมีจำนวนตู้ทั้งผู้ประกอบการสายเดินเรือ มีความประสงค์จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดจำนวน 97 ตู้ ส่วนตู้ที่เหลืออีก 64 ตู้นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ประกอบการสายเดินเรือและบริษัทแม่ของผู้ประกอบการสายเดินเรือ ดังกล่าว
กรมศุลกากรขอย้ำว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับนโยบายของกรมฯ จึงได้มีมาตรการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้า และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยทำการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ทุกกรณี เเละในกรณีที่มีการตรวจพบความผิดซึ่งสินค้าประเภทสุกร ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการจับกุมเเละดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน โดยไม่ยินยอมให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดย
กรมฯ พร้อมอํานวยความสะดวกและสนับสนุนพนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมตรวจสอบ รวมทั้งเตรียมความพร้อม เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทสุกรที่มีเชื้อโรคและอันตรายต่อผู้บริโภค จากต่างประเทศ
นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น