วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2565

CPF ติดอาวุธ คู่ค้า SME เพิ่มขีดความสามารถจัดหาอาหารปลอดภัยได้มาตรฐานสากล

 CPF ติดอาวุธ คู่ค้า SME  เพิ่มขีดความสามารถจัดหาอาหารปลอดภัยได้มาตรฐานสากล



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าธุรกิจ SME อย่างต่อเนื่อง ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก พัฒนาหลักสูตรติดอาวุธเพิ่มทักษะให้ คู่ค้า SME ผู้จัดหาวัตถุดิบหลักในกลุ่มเครื่องปรุงมีแนวปฏิบัติที่ดีในการควบคุมคุณภาพและอาหารปลอดภัยขั้นสูง ตามมาตรฐานสากล ยกระดับความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั่วโลกและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของ SME ไทยในเวทีโลก




ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านประกันคุณภาพกลาง ในฐานะประธานความมุ่งมั่นด้านอาหารที่ยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจอาหารแบบครบวงจร และส่งมอบอาหารให้กับคนไทยและส่งออกไปมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19  ลูกค้าและผู้บริโภคทั่วโลกมีความใส่ใจในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณภาพและความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการตรวจประเมินสถานประกอบการและโรงงานผลิตของคู่ค้าธุรกิจเป็นประจำทุกปี และร่วมพัฒนาคู่ค้าสามารถดำเนินงานควบคุมและประกันคุณภาพวัตถุดิบทางการเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยขั้นสูงตั้งแต่ต้นทาง เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและผู้บริโภคทั่วโลก สอดคล้องกับนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ 




หน่วยงานประกันคุณภาพกลางด้านบริหารจัดการวัตถุดิบของ CPF จับมือกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม เรื่อง Food Safety Culture - Food Defense - Food Fraud  สำหรับคู่ค้า SME โดยเฉพาะขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ SME มีความพร้อมในการผลิตและจัดหาวัตถุดิบให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นตามมาตรฐานระดับสากล อาทิ BRC เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ผลิตอาหารส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร มาตรฐาน FSSC22000 หรือ IFS ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยอาหารที่สร้างความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้



“อุตสาหกรรมอาหารโลกต้องการระบบประกันคุณภาพความปลอดภัยสูงกว่าขั้นพื้นฐานอย่าง GMP และ HACCP แล้ว การพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาขีดความสามารถคู่ค้า SME  จึงเป็นความมุ่งมั่นของ CPF ที่จะติดอาวุธให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถดำเนินงานสอดคล้องกับมาตรฐานที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางการขยายโอกาสทางการตลาด ยกระดับเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ต่อไป และมีส่วนร่วมสร้างภาพลักษณ์ของอาหารไทยปลอดภัยในระดับสากล” ดร.สมหมายกล่าว


ทั้งนี้ CPF ได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมและคัดเลือกคู่ค้า SME กลุ่มแรกเพื่อเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบหลักในกลุ่มเครื่องปรุง เช่น เครื่องเทศ น้ำเชื่อม เครื่องแกง เป็นต้น ได้ตระหนักและเข้าใจในหลักเกณฑ์ของระบบควบคุมและประกันคุณภาพที่สนับสนุนความปลอดภัยของอาหารระดับสากล และ CPF จะเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำคู่ค้านำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการและการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรทางด้านความปลอดภัยอาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยสินค้าแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศต่อไป./ 

(#)สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น