วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562


สุนัขจรจัด รุมกัดเด็ก ๗ ขวบ  ตอนที่ ๑
นายเจษฎา อนุจารี  ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA)
๒ - ๓ วันที่ผ่านมา มีข่าวสุนัขจรจัดเกือบ ๑๐ ตัว รุมกัดเด็กอายุ ๗ ปี ร่างของเด็กพรุนไปด้วยคมเขี้ยว อาการสาหัส.... เป็นข่าวที่น่าตกใจ ...!!!!! . และน่าเป็นห่วงเด็ก .......  ขณะเดียวกัน ..... ในสังคมออนไลน์ ...... นักเลงคีย์บอร์ดจำนวนมากได้กระหน่ำด่ากฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์กันอย่างเมามัน ...ในทำนองว่า กฎหมายคุ้มครองหมา ... ไม่คุ้มครองคน ...
ความจริงแล้ว ..... พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ มีเจตนารมณ์ป้องกันมิให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์ ... อย่างมีเหตุมีผลในตัวเอง ... ไม่ได้มุ่งคุ้มครองสัตว์แบบไม่ลืมหูลืมตา .....
มาตรา ๒๐ แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมฯ บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร" ผมขอเน้นคำว่า "โดยไม่มีเหตุอันสมควร" ดังนั้น ถ้าผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ โดยมีเหตุอันสมควร ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ...... ครับ


นอกจากนี้ มาตรา ๒๑ ได้บัญญัติกรณีการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ไว้อีกด้วย ซึ่งมีอยู่ถึง ๑๑ กรณี กรณีตามที่เป็นข่าว อยู่ในกรณีที่ ๖ คือ การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน หมายความว่า ถ้าสัตว์ทำร้ายมนุษย์ หรือทำร้ายสัตว์อื่น หรือทำลายทรัพย์สินของมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือบาดเจ็บ หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ทุกคนมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะฆ่าสัตว์นั้นได้ เพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์ หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินได้ การฆ่าสัตว์ในกรณีนี้ ไม่เป็นการทารุณกรรมสัตว์
ข้อยกเว้นดังกล่าว เป็นหลักกฎหมายทั่วไปในการป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักสัดส่วนความเหมาะสมตามพฤติการณ์ ย่อมมิใช่การทารุณกรรมสัตว์อย่างแน่นอน สมมติว่า สุนัขกัดเด็กแล้ว ผ่านไปสองวัน ญาติของเด็กช่วยกันจับสุนัขมัดแขวนไว้ แล้วใช้มีดกรีดหนัง เชือดเนื้อสดๆ ของสุนัข จนกระทั่งสุนัขสิ้นใจตาย เพื่อระบายความแค้น ... อย่างนี้ ....ไม่ใช่การป้องกันที่ชอบด้วยกฎหมาย .... แต่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ .... อาจต้องรับโทษตามมาตรา ๒๐ ประกอบมาตรา ๓๑ ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การกระทำเดียวกันนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๘๑ ฐานกระทำการทารุณต่อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับความทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เรียกกันว่า กรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท กรณีอย่างนี้ต้องลงโทษตามบทหนักเพียงบทเดียว
ถ้าสุนัขที่รุมกัดเด็ก เป็นสุนัขที่มีเจ้าของ และเป็นสุนัขที่ดุ เจ้าของสุนัขอาจมีความผิดฐานเป็นผู้ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเจ้าของสุนัขต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายตามมาตรา ๔๓๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรักษาไว้แทนเจ้าของ ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหาย เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะ  พิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น ฉะนั้น ผมยืนยันได้ว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองทั้งคนและสัตว์ ครับ
กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์มีเรื่องดีๆ ที่คนมักจะไม่ได้พูดถึง ...............   นั่นคือ "การจัดสวัสดิภาพสัตว์"
มาตรา ๒๒ กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
คำว่า "การจัดสวัสดิภาพสัตว์" คือ การเลี้ยงหรือการดูแลสัตว์ ที่ทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับสัตว์นั้น มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ มีอาหาร และมีน้ำอย่างเพียงพอ
..... และมาตรา ๒๓ กำหนดห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ตามที่บัญญัติในมาตรา ๓๒
ใครที่นำสุนัขไปปล่อยในวัด หรือปล่อยในที่สาธารณะ ให้เป็นสุนัขจรจัด มีความผิดตามมาตรานี้สำหรับ กรณีสุนัขจรจัด กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้แล้ว มาตรา ๒๖ กำหนดว่าในกรณีที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามความเหมาะสม
หมายความว่า เมื่อพบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามความเหมะสม คือ ต้องจัดให้สัตว์นั้นมีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับสัตว์นั้น มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ มีอาหาร และมีน้ำอย่างเพียงพอ .........  ห้ามนำไปวางยาเบื่อ ........ ครับ
ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ ดังกล่าว อาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญาก็ได้ครับ และอาจเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดตามกฎหมายปกครองอีกด้วยซึ่งผมจะเล่ารายละเอียดในตอนต่อๆ ไป
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ ที่อาจนำมาใช้ในการจัดการกับสุนัขจรจัดได้ ผมจะมาบอกมาเล่าให้ฟังกันในคราวหน้าครับ



สุนัขจรจัด รุมกัดเด็ก ๗ ขวบ  ตอนที่ ๒
ตอนที่แล้ว ..... ผมพูดถึงเรื่องพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ มีเจตนารมณ์คุ้มครองทั้งคนและสัตว์ และทิ้งท้ายเรื่องมีกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ ที่อาจนำมาใช้ในการจัดการกับสุนัขจรจัดได้
เรามาดูกันครับ ว่ามีกฎหมายอะไรอีกบ้างที่ใช้จัดการกับสุนัขจรจัดได้บ้าง และมีวิธีการจัดการ อย่างไรบ้าง
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นกฎหมายที่ใช้บริหารจัดการเกี่ยวกับการ อนามัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมของมนุษย์อย่างใกล้ชิด  เนื้อหากฎหมายที่สำคัญที่เกี่ยวกับอนามัยและสิ่งแวดล้อม คือ หมวดการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย หมวดสุขลักษณะของอาคาร หมวดเหตุรำคาญ หมวดการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ หมวดกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หมวดตลาด สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร และหมวดการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ หมวดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสุนัขจรจัด คือ หมวดการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์
กฎหมายการสาธารณสุข มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ให้อำนาจราชการส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของพื้นที่ในเขตอำนาจของราชการส่วน ท้องถิ่นนั้น เป็นเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์  การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นดังกล่าว วรรคสองของมาตรา ๒๙ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจ กำหนดให้เป็นเขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์บางชนิดหรือบางประเภทโดยเด็ดขาด หรือห้ามเลี้ยงเกินจำนวนที่กำหนด หรือเป็นเขตที่การเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์บางชนิดหรือบางประเภทต้อง อยู่ภายใต้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
เมื่อมีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้พบสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ โดยไม่ปรากฏเจ้าของแล้ว มาตรา ๓๐ ได้กำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไว้ คือ ๑. ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจกักสัตว์ดังกล่าวไว้ เป็นเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน ๒. เมื่อพ้นสามสิบวันแล้ว ไม่มีผู้ใดมาแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของเพื่อรับสัตว์กลับคืน ให้สัตว์นั้นตกเป็นของราชการส่วนท้องถิ่น ๓. ถ้าการกักสัตว์ไว้ อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สัตว์นั้น หรือสัตว์อื่น หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะจัดการขายหรือขายทอดตลาดสัตว์นั้นตามควรแก่กรณีก่อนถึงกำหนดเวลาดังกล่าวก็ได้ เงินที่ได้จากการขายหรือขายทอดตลาดเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการขายหรือขายทอดตลาดและค่าเลี้ยงดูสัตว์แล้ว ให้เก็บรักษาไว้แทนสัตว์ ๔. ในกรณีที่ยังมิได้มีการขายหรือขายทอดตลาดสัตว์ และเจ้าของสัตว์มาขอรับสัตว์คืนภายในกำหนดเวลาสามสิบวันดังกล่าวมาข้างต้น เจ้าของสัตว์ต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูสัตว์ให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นตามจำนวนที่ได้จ่ายจริง ๕. ในกรณีที่สัตว์นั้น เป็นโรคติดต่อ อันอาจเป็นอันตรายต่อประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควรได้
กรณีที่มีการฝ่าฝืนข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งออกตามความในมาตรา ๒๙ เกี่ยวกับการควบคุมการ เลี้ยงหรือปล่อยสัตว์แล้ว ผู้ฝ่าฝืนอาจต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทตามมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ออกประกาศใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. ๒๕๔๘ สาระสำคัญอยู่ในข้อ ๗ และข้อ ๘ กล่าวคือ ข้อ ๗ ให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข  ข้อ ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยสุนัขในที่หรือทางสาธารณะ หรือในที่อื่นใดในเขตกรุงเทพมหานครโดยเด็ดขาด
คำว่า "การปล่อยสุนัข" บทนิยามในข้อ ๕ หมายความว่า การสละการครอบครองสุนัข หรือ ปล่อยให้อยู่นอกสถานที่เลี้ยงโดยปราศจากการควบคุม ดังนั้น ในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเขตที่ควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๘ ผมไม่แน่ใจว่า คนเลี้ยงสุนัขในเขตกรุงเทพมหานครทุกคนทราบกันดีหรือยัง ว่าต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติฉบับนี้
การควบคุมการเลี้ยงสุนัขหรือปล่อยสุนัขตามมาตราการในข้อบัญญัติคือ การนำสุนัขหรือใบรับรองรูปพรรณสัณฐานสุนัข และการจัดทำเครื่องหมายระบุตัวสุนัขอย่างถาวร เช่น การฝังไมโครชิป เป็นต้น ซึ่งออกโดยสถานพยาบาลสัตว์ในเขตกรุงเทพมหานครที่ได้รับอนุญาตตาม กฎหมายว่าสถานพยาบาลสัตว์ ไปจดทะเบียนสุนัข ณ สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสถานที่อื่นใดตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด หรือจดทะเบียนที่กองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย หรือสถานที่อื่นใดตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด จะไปจดทะเบียนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำการแทนก็ได้ (ข้อ ๙ ข้อ ๑๐) กำหนดระยะเวลาที่จดทะเบียนภายใน ๑๒๐ วันนับแต่วันที่สุนัขเกิด หรือภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่นำสุนัขมาเลี้ยงในเขตกรุงเทพมหานคร (ข้อ ๙)

เมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เจ้าของสุนัขจะได้รับบัตรประจำตัวสุนัข เพื่อแสดงการจดทะเบียนสุนัข (ข้อ ๑๑) ถ้าย้ายที่อยู่สุนัข เจ้าของสุนัขต้องแจ้งต่อหน่วยงานรับจดทะเบียนตามที่กล่าวมาข้างต้นภายใน ๓๐ วัน (ข้อ ๑๒) บัตรประจำตัวสุนัขหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ก็ต้องแจ้งภายในกำหนดเวลาเดียวกัน (ข้อ ๑๒)
กรณีที่สุนัขนั้น ไม่ใช่สุนัขควบคุมพิเศษ หมายถึง ไม่ใช่สุนัขพันธุ์ที่ดุร้าย เช่น พิทบูลเทอเรีย บูลเทอเรีย สเตฟฟอร์ดเชอร์บูลเทอเรีย รอทไวเลอร์ และฟิล่าบราซิลเรียโร แต่สุนัขไปทำร้ายคน หรือพยายามทำร้ายคน เจ้าของสุนัขต้องแจ้งต่อหน่วยงานที่รับจดทะเบียนดังกล่าวมาข้างต้น เพื่อเปลี่ยนสาระสำคัญของบัตรประจำตัวสุนัข ให้เป็นสุนัขควบคุมพิเศษ โดยต้องแจ้งภายใน ๓๐ วัน แต่ถ้าทำร้ายคนแล้ว ให้แจ้งทันที (ข้อ ๑๒)
ถ้าสุนัขตาย เจ้าของสุนัขต้องแจ้งต่อหน่วยงานที่จดทะเบียนไว้ ภายใน ๓๐ วันเช่นกัน (ข้อ ๑๓)
ถ้าสุนัขหาย เจ้าของสุนัขต้องแจ้งต่อหน่วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น