“ซีอีโอ” IFEC ร้อง“สำนักนายกรัฐมนตรี” ให้ตรวจสอบเลขาธิการก.ล.ต. ที่ส่อแววละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เหตุไม่ยอมสอบทุจริตภายในIFEC แม้ศาลจะประทับรับฟ้องคดีทุจริตแล้ว หนำซ้ำออกคำสั่งโดยมิชอบปลดฝ่ายบริหาร ส่งผลร้ายแรงในการบริหารงาน กระทบผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 30,000 ราย
วันที่ 3 ตุลาคม ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO) บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ไอเฟค(IFEC) มอบหมายให้นายประสิทธิ์ วงศาสวัสดิ์ ทนายความ ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ที่แสดงให้เห็นว่าไม่เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายส่งผลกระทบตามความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อนายศุภนันท์ รวมถึงบริษัทIFECและผู้ถือหุ้นรายย่อยของIFEC
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เลขาธิการก.ล.ต.และเจ้าหน้าที่ก.ล.ต. มีพฤติกรรมเพิกเฉยต่อการร้องเรียนของIFEC กรณีร้องขอให้ตรวจสอบพิรุธการบริหารงานของอดีตผู้บริหารที่สร้างความเสียหายแก่IFEC ซึ่งภายหลังกลายเป็น 2 คดีที่ศาลประทับรับฟ้อง ประกอบด้วยคดีทุจริตการซื้อขายที่ดินของIFECในอ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งศาลอาญาฉะเชิงเทราประทับรับฟ้องอดีตผู้บริหารรวมกับพวก 7 คนหลังพบมูลความผิดว่าผู้บริหารคนดังกล่าวและพวก ร่วมกันตัดต่อมติที่ประชุมIFECแล้วขายที่ดินให้กับบริษัทเอกชนที่ตนเองจัดตั้งขึ้น และการขายบางส่วนไม่มีการจ่ายเงินจริง รวมถึงคดีที่อดีตผู้บริหารคนเดิมร่วมกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่พยายามจะครอบงำกิจการIFECอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งศาลอาญาก็ประทับรับฟ้องแล้วเช่นกัน
นอกจากนั้น ฝ่ายบริหารของIFEC ยังตรวจสอบพบว่าอดีตผู้บริหารคนดังกล่าวสร้างหลักฐานเท็จเพื่อหลอกให้คณะกรรมการบริษัทIFECหลงเชื่อจนเข้าซื้อกิจการโรงแรมหรูในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งภายหลังIFECได้ดำเนินการฟ้องร้องอดีตผู้บริหารคนดังกล่าวพร้อมกับพวกแล้ว แม้ต่อมาอดีตผู้บริหารคนดังกล่าวจะยื่นฟ้องร้องนายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกรรมการบริษัทIFEC กล่าวหาว่าแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท แต่ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษายกฟ้อง หลังวินิจฉัยพบพยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ามีการซื้อขายสูงเกินจริง อาทิ การแจ้งก่อนซื้อว่าห้องพักของโรงแรมสามารถเปิดให้บริการได้123 ห้อง แต่ตรวจสอบภายหลังพบว่าเปิดใช้งานได้จริงเพียง 64 ห้อง ทำให้พบเห็นมูลค่าที่ไม่แท้จริงของโรงแรม
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หลังตรวจพบการทุจริตในIFEC อดีตผู้บริหารคนดังกล่าวได้ลาออกจากบริษัทและขายหุ้นให้นักธุรกิจคนหนึ่งจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริษัท หลังจากนั้นผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนดังกล่าวพยายามเปลี่ยนโครงสร้างของIFECแต่กระทำไม่สำเร็จจึงลาออกไป ส่งผลให้IFECตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศ อีกทั้งที่ผ่านมาคดีความทั้งหมดIFEC ได้รายงานต่อก.ล.ต.มาโดยตลอดแต่ข้อร้องเรียนไม่มีความคืบหน้าหรือการตอบรับจากก.ล.ต. หนำซ้ำก.ล.ต.ยังออกคำสั่งปลดประธานกรรมการออกจากตำแหน่ง และออกหนังสือเตือนIFECไม่ให้จัดประชุมกรรมการในขณะที่ยังไม่มีประธานกรรมการซึ่งก่อนหน้านั้นนายศุภนันท์ ก็ถูกบุคคลกลุ่มหนึ่งข่มขู่กดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง(ร้องเรียนที่ตำรวจกองปราบปรามแล้ว)
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีแจ้งความจับกรรมการ 2 คน เนื่องจากตรวจพบการทำลายทรัพย์สินของบริษัทตลอดจนเปลี่ยนแปลงสารสนเทศของบริษัทอย่างมีข้อกังขา และก้าวก่ายการบริหารงานของบริษัทโดยออกคำสั่งปลดพนักงานระดับสูงของIFEC และแต่งตั้งตัวเองขึ้นรักษาการCEO ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้กรรมการอิสระทั้ง 2 คนต้องพ้นสภาพกรรมการเพราะขัดต่อประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า กรรมการอิสระต้องไม่เป็นผู้ที่หรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ซึ่งเมื่อกรรมการอิสระออกคำสั่งปลดพนักงานประจำและแต่งตั้งตัวเองเข้ามาบริหารงาน จึงเท่ากับขาดคุณสมบัติความเป็นกรรมการอิสระทันที ตามพ.ร.บ.บริษัทจำกัด(มหาชน) โดย IFECได้แจ้งการพ้นสภาพต่อก.ล.ต.เมื่อวันที่10ก.ย.2561
“เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจากก.ล.ต.ซึ่งเพิกเฉยในการตรวจสอบต้นเหตุปัญหาของIFEC ทั้งที่ได้พยายามร้องเรียนและติดตามความคืบหน้ามานานกว่า 2 ปีแล้ว จึงตัดสินใจเข้าร้องเรียนเพื่อหวังว่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่จะอำนวยความเป็นธรรมให้” ทนายความบริษัทIFEC กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น