หน่วย บพท. อว. จับมือ วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติและนิทรรศการด้านนวัตกรรมท้องถิ่น 2568 ปักธงเป็นศูนย์กลาง พัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น
วันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2568 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จังหวัดนนทบุรี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติและนิทรรศการด้านนวัตกรรมท้องถิ่น 2568 หรือ The International Symposiumand Exhibition on Local Innovation 2025 ภายใต้ชุดโครงการวิจัยสนับสนุนท้องถิ่นวิจัยนวัตกรรมพร้อมสังเคราะห์บทเรียน และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนการจัดนิทรรศการโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย และดำเนินการร่วมกับคณะนักวิชาการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 20 แห่ง
นวัตกรรมท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากการทดลองดังกล่าวนี้ประกอบด้วย (1) นวัตกรรมท้องถิ่นด้านพัฒนารายได้ท้องถิ่น จำนวน 14 โครงการ (2) นวัตกรรมท้องถิ่นด้านการจัดบริการสาธารณะ จำนวน 3 โครงการ และ (3) นวัตกรรมท้องถิ่นด้านการจัดการขยะ คาร์บอนเครดิตและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จำนวน 4 โครงการ จุดเด่นที่น่าสนใจ 4 ประการคือ ประการแรก นวัตกรรมเหล่านี้พัฒนาขึ้นโดยฝีมือและความคิดของทีมนักวิจัยของท้องถิ่นเอง ประการที่สอง ทีมนักวิจัยท้องถิ่นได้นำเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ประการที่สาม เป็นการพัฒนานวัตกรรมโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงทดลอง (ปฏิบัติการ) และใช้หลักการจัดการแบบร่วมผลิตกับภาคประชาชนและเอกชนในท้องถิ่น และประการสุดท้าย ผลการทดลองนวัตกรรมเหล่านี้ได้รับการยืนยันโดยข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า สามารถยกระดับรายได้ของท้องถิ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ และสามารถแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้ตรงจุด ซึ่งนับเป็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กในประเทศไทย
นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิด“The International Symposium and Exhibition on Local Innovation 2025 ในวันแรก (21 กุมภาพันธ์ 2568) ว่า ระบบ ววน. และกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งการร่วมกันขยายองค์ความรู้ การสนับสนุน การลดข้อขำกัด ทั้งในทางกฎระเบียบ และในทางนโยบาย เพื่อให้ท้องถิ่นมีอิสระในการดำเนินงานตามภารกิจอย่างแท้จริง
ด้าน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์มนูญธรรม มานวธงชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (NMU) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชได้รับความร่วมมือทางวิชาการกับคณะนักวิชาการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น 21 โครงการ ซึ่งจะได้นำเสนอผลงานอย่างเป็นรูปธรรมในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ นอกจากนี้ยังจะได้รับทราบมุมมองในระดับสากลต่อการสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นจากนักวิชาการจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะได้แสวงหาแนวคิด และตัวแบบนวัตกรรมใหม่ๆจากทั่วโลกมาปรับใช้กับประเทศไทย
จากนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.จรัส สุวรรณมาลา นำเสนอผลการวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ค้นพบจากการวิจัยเชิงทดลองเพื่อเสริมศักยภาพนวัตกรรมท้องถิ่น ต่อด้วยมุมมองในระดับนานาชาติ เกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ของนวัตกรรมท้องถิ่น กรอบนโยบายระดับชาติเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมท้องถิ่น และกลไกของต่างประเทศในการสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นผ่านการฝึกอบรม การเป็นพี่เลี้ยง และความช่วยเหลือทางเทคนิค
ในวันที่สอง (22 กุมภาพันธ์ 2568) ผู้บริหารท้องถิ่นและผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่วิจัยและสร้างนวัตกรรมทุกแห่ง ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่นไทย ทั้งนวัตกรรมด้านรายได้ท้องถิ่น และนวัตกรรมด้านการจัดบริการสาธารณะ ซึ่งผู้แทนจากท้องถิ่นมองว่ากลไกสำคัญของการสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นคือการทำงานเป็นทีม การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมี “โค้ช” จากมหาวิทยาลัยช่วยกำกับดูแลให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ตามกระบวนการ และขอให้ภาครัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง ปลดล็อกข้อจำกัดหรืออำนวยความสะดวกมากกว่าที่เป็นอยู่ “เพียงแค่มีหนังสือซักซ้อมให้ท้องถิ่นสามารถตั้งงบประมาณสำหรับการสร้างนวัตกรรม ก็ช่วยได้มากแล้วในระยะเริ่มต้น” ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าว ปิดท้ายด้วยการมองไปข้างหน้ากับการทิศทางในอนาคตของการสร้างนวัตกรรมท้องถิ่น โดยหัวหน้าชุดโครงการวิจัย เปิดมุมมองใหม่ร่วมกับสมาคมเทศบาลนครและเมือง และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรเครือข่ายท้องถิ่นไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนับพันแห่งทั่วประเทศให้พร้อมต่อการเป็น “นวัตกรท้องถิ่น”
สำหรับผู้สนใจติดตามรายละเอียดกิจกรรมและความเคลื่อนไหว หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาการบริหารและจัดการเมือง วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกิจกรรมวิชาการของอื่นของศูนย์สร้างสรรค์เมืองเพื่ออนาคต ได้ที่ Facebook: การบริหารและจัดการเมือง Urban Administration and Management สอบถามได้ที่หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รป.บ.) สาขาวิชาการบริหารและจัดการเมือง วิทยาลัยพัฒนามหานคร อาจารย์กิรพัฒน์ เขียนทองกุล โทร. 08-4724-0167 อีเมล kiraphat@nmu.ac.th (นักวิจัย) นางสาวเกษรา ศรีนาคา โทร. 08-4501-4814 อีเมล kessara.snk@gmail.com (นักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการ)
//
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น