วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ป.ป.ช. สุราษฎร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการป่าในเมืองบ้านปากกะแดะ งบประมาณ 21 ล้าน หลังประชาชนร้องเรียนการก่อสร้าง ไม่เป็นไปตามสัญญา

      ป.ป.ช. สุราษฎร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการป่าในเมืองบ้านปากกะแดะ

งบประมาณ 21 ล้าน หลังประชาชนร้องเรียนการก่อสร้าง ไม่เป็นไปตามสัญญา



     วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นายเนติพล ชุมยวง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 และเครือข่ายภาคประชาชนชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต เนื่องจากประชาชนร้องเรียนการก่อสร้าง ในประเด็นดังต่อไปนี้



1. การขออนุมัติใช้จ่ายจากเงินสะสม จำนวน 5,372,802 บาท อาจไม่ถูกต้องตามระเบียบ


2. วิธีการการตอกเสาเข็ม คสล. ยาว 6.00 เมตร จำนวน 1,748 ต้น อาจไม่ได้มาตรฐาน


3. การก่อสร้างราวกันตก  ด้วยวัสดุท่อเหล็กเคลือบสังกะสี จำนวน 1,746 ต้น ไม่เป็นไปตามแบบ


    จากการลงพื้นที่มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนทอง รักษาการปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนทอง ช่างควบคุมงาน พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวต้อง ส่งมอบเอกสารโครงการฯ พร้อมให้ข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้



โครงการดังกล่าวคือ โครงการป่าในเมืองบ้านปากกะแดะ หมู่ที่ 3-6 ตำบลตะเคียนทอง ก่อสร้างสะพานทางเดินเท้าในพื้นที่ป่าชายเลน ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และลานคอนกรีตเสริมเหล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนทอง โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ งบประมาณ 21,050,000 บาท โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 18,945,000 บาท (90%)  และ งบประมาณจาก อบต.ตะเคียนทอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สมทบเพิ่มอีก จำนวน 2,105,000 (ร้อยละ 10) รวมทั้งสิ้น  21,050,000 บาท ราคากลาง 21,139,000 บาท วงเงินตามสัญญา 21,050,000 บาท วันเริ่มสัญญา 29 กันยายน 2565 วันสิ้นสุดสัญญา 30 สิงหาคม 2566 รวมระยะเวลา 335 วัน แบ่งเป็น 16 งวดงาน 

โครงการฯ มีงานก่อสร้าง ดังนี้

1. ก่อสร้างทางเท้า กว้าง 3 เมตร ยาว 2,619 เมตร

2. ศาลาที่พักริมทาง กว้าง 3 x 3 เมตร สูง 2.80 เมตร จำนวน 6 หลัง

3. ก่อสร้างห้องน้ำ ขนาด 4.50 x 5.50 เมตร สูง 2.70 เมตร

4. ก่อสร้างลาน ค.ส.ล กว้าง 10 เมตร ยาว 42 เมตร

5.  ก่อสร้างถนน ค.ส.ล. ยาว 260 เมตร พื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,300 ตร.ม.

สถานะโครงการฯ ปัจจุบันแล้วเสร็จและเบิกจ่าย 100 % ไม่มีการขยายสัญญา แต่ผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้า ในงวดงานที่ 13 – 16 โดยผู้รับจ้างยินยอมให้หักเงินในส่วนที่ล่าช้า

ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้ให้ข้อมูลถึงประเด็นที่ประชาชนร้องเรียนดังนี้

1. กรณีการขออนุมัติใช้จ่ายจากเงินสะสม จำนวน 5,372,802 บาท 

เนื่องจากความล่าช้าของการก่อสร้าง ในงวดงานที่ 13-16 ซึ่งผู้รับจ้างยินยอมให้หักเงินในส่วนที่ล่าช้าตามสัญญาจ้าง และความล่าช้าเป็นเหตุให้งบอุดหนุนเฉพาะกิจถูกพับไปเนื่องจากข้อจำกัดของระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพันตามกฎหมาย  ดังนั้นเพื่อเป็นการจัดหางบประมาณให้กับผู้รับจ้างในงวดงานที่ 13-16 จำนวน 5,372,802 บาท อบต.ตะเคียนทอง จึงได้ดำเนินการตามแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ มท. 0808.2/ว 68 ลงวันที่ 5 มกราคม 2567 โดยได้ขอทำความตกลงยกเว้นการปฏิบัติตามข้อ 97 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำเงินสะสมไปจ่ายให้แก่ผู้รับจ้าง




2. วิธีการตอกเสาเข็ม คสล. ยาว 6.00 เมตร จำนวน 1,748 ต้น อาจไม่ได้มาตรฐาน

ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้แสดงเอกสารแบบและรายละเอียดประกอบแบบ ซึ่งเอกสารไม่ได้กำหนดถึงวิธีการตอกเสาเข็ม ว่าจะต้องใช้ปั้นจั่นเท่านั้น ประกอบกับหน้างาน เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ เพื่อความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และไม่ทำลายทรัพยากรป่าชายเลน จึงมีมติให้ใช้รถแบคโฮ กดเสาเข็มที่มีขนาดไม่ใหญ่นักและมีความยาวไม่เกิน 7 เมตร (ตามแบบขนาด 6 เมตร) โดยมติดังกล่าวปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจรับและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง


3. การก่อสร้างราวกันตก ด้วยวัสดุท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ขนาด 1.5 นิ้ว หนา 2.3 มม.  จำนวน 1,746 ต้น ไม่เป็นไปตามแบบ 


      ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ให้ข้อมูลว่าในการก่อสร้างราวกันตกด้วยวัสดุท่อเหล็ก ผู้ว่าจ้างได้กำหนดให้ผู้รับจ้างทาสีกัลวาไนซ์ ซึ่งเป็นสีกันสนิม โดยผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้แสดงเอกสารแบบและรายละเอียดประกอบแบบ “รายการงานเหล็กรูปพรรณทับหน้าเหล็ก” ในเอกสารระบุว่า “ทาสีเครือบตามรายการที่ระบุ” จึงสามารถใช้เหล็กทาสีตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนดได้ และการทาสีกัลป์วาไนซ์ มีคุณภาพและสะดวกต่อการบำรุงรักษาในอนาคต



      จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. สภาพทางกายภาพโดยทั่วไป มีสภาพปกติ เว้นแต่ เหล็กราวกันตก เกิดสนิมขึ้นหลายจุด

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังอยู่ในระยะประกันสัญญา เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จึงได้ให้คำแนะนำในการประสานผู้ว่าจ้างให้เข้ามาแก้ไขในส่วนที่ชำรุดบกพร่อง โดยปัจจุบันผู้รับผิดชอบโครงการมีหนังสือถึงผู้รับจ้าง 2 ครั้ง ให้เข้ามาแก้ไขในส่วนที่ชำรุดบกพร่องแล้ว แต่ผู้รับจ้างยังไม่ได้เข้ามาแก้ไขแต่อย่างใด และผู้ว่าจ้างมีแผนในการจ้างเอกชนภายนอก เข้ามามาซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุดบกพร่อง โดยใช้งบประมาณจากเงินประกันสัญญา ต่อไป



เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ขอเอกสารที่เกี่ยวมาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าการให้ข้อมูลการของผู้รับผิดชอบโครงการ สอดคล้องกับเอกสารหรือไม่ และจะสรุปข้อเท็จจริงที่ได้ทั้งหมด เสนอผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน่าที่ต่อไป 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น