วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2567

บอร์ดวัฒนธรรมแห่งชาติเห็นชอบจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างยิ่งใหญ่

 บอร์ดวัฒนธรรมแห่งชาติเห็นชอบจัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างยิ่งใหญ่




 11-15 ก.ค.นี้ ณ ท้องสนามหลวง ชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ สวนแสงเฉลิมพระเกียรติ การแสดงศิลปวัฒนธรรมดนตรีงดงามตระการตา เที่ยวตลาดวัฒนธรรมชิม ช้อปอาหาร-ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม พร้อมไฟเขียวงบรายจ่ายกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมปี 67 จ่ายเงินเดือนศิลปินแห่งชาติ 



นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการฯและผู้แทนกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ  เข้าร่วม ณ ห้อง 301  ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาลและผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom) เมื่อเร็วๆนี้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการจัดงานมหรสพสมโภชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี ถวายเป็นราชสักการะ ธำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงริ้วขบวนทางวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในพิธีเปิดงานวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.00-19.30 น. เส้นทางเดินของริ้วขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง ไปยังบริเวณท้องสนามหลง การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งแต่วันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ได้แก่ นิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และ2)จัดแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติฯ




รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ แบ่งเป็น 2 เวที คือ เวทีกลาง จัดแสดงวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.30-22.00 น. มีการแสดงมหาดุริยางค์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  การแสดงโนราศิลปินแดนทักษิณเฉลิมพระเกียรติฯ  การแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติฯ “นาฏะ ดนตรี คีตา” การแสดงโขนสด การแสดงสี่ภูมิภาคเกษมศานต์ การแสดงพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติ การแสดงวงดุริยางค์สากล การแสดงละครนอกเฉลิมพระเกียรติฯ การแสดงรามายณะนานาชาติ การแสดงวงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ การแสดงมนต์คีตศิลป์ทศชาติชาดก การแสดงดนตรี 10 พระชาติชาดกเฉลิมพระเกียรติฯ การแสดงละครเพลงเทิดพระเกียรติฯ การแสดง “แผ่นดินธรรมแผ่นดินไทย ใต้ร่มพระบารมี” โดยวงดุริยางค์ 4 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การแสดงโขน ตอน พระรามครองเมือง “พระรามทรงธรรม์ครองแผ่นดิน” การแสดงร่วมสมัยเทิดไท้องค์ราชัน และการแสดงอากาศยานไร้คนขับ(โดรน)เฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งจัดแสดงเฉพาะในวันที่ 11 และวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 

 





นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันในส่วนของเวทีย่อย จัดแสดงวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2567  เวลา 17.00-18.30 น. มีการแสดงพื้นบ้าน การแสดงของสมาคมศิลปินพื้นบ้าน การแสดงรำวงพื้นบ้าน การแสดงของเด็กและเยาวชนและการแสดงจากศิลปินที่มีชื่อเสียง อีกทั้งภายในงานมีตลาดวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของดีสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร อาหารไทย อาหารพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวัฒนธรรมอื่นๆ การสาธิตอาหารในรูปแบบตลาดย้อนยุค เช่น อาหารไทยโบราณ อาหารชาววัง อาหารพื้นถิ่น และสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น นวดไทย ลงรักปิดทอง ทำว่าวไทย กรองดอกไม้ แกะสลักผักผลไม้ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้วธ.ประสานไปยังกรมประชาสัมพันธ์เพื่อให้ร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานมหรสพสมโภชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ไปสู่คนไทยทั่วประเทศและต่างประเทศ






รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอนุมัติประมาณการรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ภายในวงเงินกว่า 75 ล้านบาท เพื่อให้การเบิกจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ค่ารักษาพยาบาลและสวัสดิการต่างๆมีความต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - กันยายน 2567 และโครงการต่างๆของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม เช่น โครงการเผยแพร่ภูมิปัญญาศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม โครงการเผยแพร่เกียรติคุณศิลปินแห่งชาติสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมได้ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเร่งส่งเรื่องขออนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมไปยังกรมบัญชีกลางพิจารณาอนุมัติต่อไป เพื่อให้ศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมได้รับค่าตอบแทนรายเดือนต่อเนื่องและเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าของชาติต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น