ผู้ช่วย ผบ.ตร.ตรวจการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการเลือก สว.ระดับประเทศ ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี วางกำลังตำรวจกว่า 160 นาย ดูแลอย่างเต็มที่
วันที่ 26 มิ.ย.67 เวลา 10.00 น.พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.)ลงพื้นที่ตรวจสังเกตการณ์การรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของหน่วยเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ระดับประเทศ ณ อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งในวันนี้เป็นวันเลือก สว.ระดับประเทศ โดยมี พล.ต.ท.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1(ผบช.ภ.1)พล.ต.ต.อภิชาติ วรรณภักดิ์ รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ปรารถนา แผ่นผา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี พ.ต.อ.อภิศักดิ์ โชติกเสถียร ผกก. สภ.ปากเกร็ด และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสังเกตการณ์บริเวณโดยรอบ รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า สภ.ปากเกร็ด และการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนตรวจสังเกตการณ์การจัดการจราจรโดยรอบ เส้นทางฉุกเฉินทางการแพทย์ และพื้นที่รองรับการจอดรถ
การเลือก สว.ระดับประเทศ ในวันนี้ มีผู้สมัครรับเลือกมารายงานตัว 2,889 คน โดยรอบที่ 1 จะเป็นการลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มลักษะอาชีพเดียวกัน และการเลือกรอบที่ 2 เป็นการลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มลักษะอาชีพอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน เพื่อที่จะได้ตัวแทนผู้สมัคร สว.ระดับประเทศ จำนวน 200 คน แบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน จาก 20 กลุ่มลักษณะอาชีพ
พล.ต.ท.กรไชยฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบห้องการลงคะแนนเลือกบุคคลของกลุ่มลักษณะอาชีพและผู้รับรองผู้สังเกตการณ์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสนับสนุนภารกิจรักษาความปลอดภัย ดูแลความสงบเรียบร้อย ตลอดจนการอำนวยความสะดวกการจราจรในพื้นที่ กว่า 160 นาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือก สว.ระดับประเทศ แต่อย่างใด สำหรับการตรวจสอบติดตามเกี่ยวกับกลุ่มการเมือง องค์กรการเมือง และกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตรวจสอบติดตามอยู่แล้ว เชื่อว่าสิ่งที่ทางตำรวจเตรียมความพร้อมเอาไว้ จะสามารถเข้าไปดำเนินการได้ทันทีหากพบว่ามีการกระทำความผิด
สำหรับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ 2561 ตั้งแต่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดศูนย์ดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา วันที่ 1-25 มิถุนายน 2567 ในเบื้องต้นทราบว่ามีผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน 6 คดี แบ่งเป็นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 1 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 4 คดี และกรณีน่าสนใจ 1 คดี อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เป็นผู้พิจารณาว่าการกระทำนั้นๆ เป็นการทำความผิดหรือไม่ หากเป็นการทำความผิดก็เป็นหน้าที่ของตำรวจในการดำเนินการ ซึ่งจะมีกลุ่มพนักงานสืบสวนสอบสวนทุกจังหวัด และมีกฎหมายที่สามารถดำเนินคดีได้ทันที
////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น