วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ป.ป.ช. สุราษฎร์ ตรวจสอบโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือเกาะสมุย หลังสื่อออนไลน์แจ้งเบาะแส สร้างแล้ว เรือเทียบท่าไม่ได้

      ป.ป.ช. สุราษฎร์ ตรวจสอบโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือเกาะสมุย หลังสื่อออนไลน์แจ้งเบาะแส สร้างแล้ว เรือเทียบท่าไม่ได้

 


     ตามที่ ได้รับแจ้งข่าวจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center : CDC) กรณีได้รับแจ้งข้อมูลการเฝ้าระวังการทุจริตจากสื่อออนไลน์ ฟ้องโกงด้วยแซตบอต ระบุข้อความว่า “สะพานเทียบเรืออันใหม่ บริเวณหาดหน้าทอน ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรือที่ข้ามฝั่งจากสุราษฎร์ธานีและเกาะต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้ เดิมวัตถุประสงค์โครงการทำเพื่อรองรับเรือเล็กที่จะไปขนถ่ายนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญขนาดใหญ่เข้าเกาะสมุย แต่พอเอาเข้าจริง เรือที่ใช้ท่าเทียบเรือได้ต้องเป็นเรือชาวบ้านขนาดเล็ก เรือสำราญสำหรับนักท่องเที่ยวก็เทียบท่าไม่ได้” จึงเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่คุ้มประโยชน์ ซึ่งโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวที่ท่าเรือเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า นั้น



   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. นายเนติพล  ชุมยวง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการดังกล่าว โดยเข้าพบและตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายละเอียดการก่อสร้างจาก นายอรุณ บุปผะโก ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเกาะสมุย พร้อมด้วย นายบัลลังก์  เมี่ยงบัว หัวหน้ากลุ่มวิศวกรรมทางทะเล กองวิศกรรม กรมเจ้าท่า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์การก่อสร้างเพื่อปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ และท่าเรือพร้อมอาคารรองรับเรือเล็กถ่ายลำจากเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) และปรับปรุงระบบความปลอดภัยของท่าเรือ วงเงินงบประมาณ 212,930,000 บาท มีรายละเอียดงานก่อสร้างและปรับปรุง จำนวน 9 รายการ ในส่วนของรายการงานก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ มีความยาว 80 เมตร กว้าง 8 เมตร ออกแบบมาสำหรับรองรับเรือเทนเดอร์ (Tender) ซึ่งเป็นเรือที่ขนถ่าย ลำเลียง นักท่องเที่ยวจากเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) เพื่อมาขึ้นฝั่งท่องเที่ยวบนเกาะสมุย ซึ่งโป๊ะเทียบเรือดังกล่าวออกแบบมาเพื่อเรือกินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร เจ้าหน้าที่โครงการยืนยันว่าเรือเทนเดอร์ และเรือเล็กที่กินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร สามารถเข้าเทียบท่าจอดได้อย่างแน่นนอน เพราะค่าเฉลี่ยเรือเทนเดอร์กินน้ำลึกที่ 1.2 - 1.5 เมตร ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์การก่อสร้างรายการดังกล่าว 



   นอกจากนี้ นายเนติพล  ชุมยวง ได้ตั้งข้อสังเกตุกรณีการก่อสร้างล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งเดิมกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2566 โดยคณะเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าชี้แจงว่า การก่อสร้างที่ล่าช้าเกิดจากผู้ว่าจ้าง (กรมเจ้าท่า) มีการสั่งหยุดสัญญาเนื่องจากมีความจำเป็นต้องปรับแบบและย้ายสถานที่ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือสำหรับรองรับเรือเทนเดอร์ และสถานที่ก่อสร้างที่พักคอยรองรับผู้โดยสารเรือครุย (Cruise) โดยผู้รับจ้างได้รับสิทธิ์งดหรือลดค่าปรับจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2568 แต่ผู้แทนจากกรมเจ้าท่ายืนยันจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2567 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป



  ทั้งนี้ นายเนติพล  ชุมยวง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แนะนำให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ของกรมเจ้าท่า ดำเนินการบริหารสัญญาโครงการก่อสร้างตามรายละเอียดขอบเขตงานและกรอบระยะเวลาอย่างเคร่งครัด และสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะติดตามตรวจสอบการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น