กรมศุลกากรขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรีในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบหลีกเลี่ยงนำเข้าหมูเถื่อน
วันนี้ (16 ตุลาคม 2566) เวลา 13.30 น. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงข่าว กรมศุลกากรรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เข้มงวดในการป้องกันและปราบปราม
การลักลอบหลีกเลี่ยงนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศในทุกช่องทาง ณ ศูนย์แถลงข่าว อาคาร 1 ชั้น 2
กรมศุลกากร คลองเตย
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบ
การนำเข้าเนื้อสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดี
กรมปศุสัตว์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนกรมศุลกากร โดยท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรมีมาตรการในการควบคุมอย่างเคร่งครัดในการเข้มงวด กวดขันการลักลอบ/หลีกเลี่ยง นำเข้าเนื้อสุกร เนื้อโค เนื้อกระบือ จากต่างประเทศในทุกช่องทาง
นอกจากนี้ยังให้เร่งรัดติดตามการดำเนินคดี/ยึดทรัพย์ ผู้กระทำความผิดและผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และหากมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการทั้งในด้านวินัยและคดีอาญาให้ถึงที่สุด โดยตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อเร่งรัด และตรวจสอบการดำเนินการในเรื่องนี้ขึ้น
โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ในส่วนของกรมศุลกากร ภายหลังได้รับนโยบายจากท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน สั่งการให้ทุกสำนักงาน/ด่านศุลกากร และกองสืบสวนสวนและปราบปราม ให้เข้มงวดและพร้อมเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยง
ซึ่งอาจมีการสำแดงข้อมูลเป็นเท็จ โดยการสำแดงชนิดสินค้าเป็นสินค้าอื่นเพื่อลักลอบ/หลีกเลี่ยง นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร อีกทั้งให้เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าผ่านทางช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนอีกด้วย ทั้งนี้ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ กรมศุลกากรได้มีมาตรการในการควบคุมการลักลอบ/หลีกเลี่ยง การนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ โดยเพิ่มการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้าจากบัญชีสินค้า (Manifest) (Manifest คือ บัญชีสินค้านำเข้าที่ผู้รับขนส่งยื่นต่อศุลกากร
เพื่อแสดงรายละเอียดของที่รับบรรทุก) เพื่อป้องกันการสำแดงข้อมูลในใบขนสินค้าไม่ตรงกับความเป็นจริง และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจปล่อยสินค้าประเภทตู้แช่เย็น สินค้าเกษตร ทุกชนิด ทุกรายการ ทุกใบขนสินค้าโดยให้มีการเปิดตรวจและ/หรือเอกซเรย์ทุกตู้คอนเทนเนอร์ หากพบว่าผู้นำเข้ารายใดมีการลักลอบ/หลีกเลี่ยง นำเข้าเนื้อสุกร เนื้อโค เนื้อกระบือ จากต่างประเทศในทุกช่องทาง จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการจับกุมเเละดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน
โดยไม่ยินยอมให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยกรมศุลกากรสนับสนุนการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมตรวจสอบ หากผู้ประกอบการใดถูกดำเนินคดีฯ ทางกรมศุลกากรจะพิจาณาระงับการปฏิบัติพิธีศุลกากรทันที
ในส่วนของความคืบหน้าในการดำเนินการทำลายชิ้นส่วนสุกร จำนวน 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้น หลังจากที่กรมศุลกากรส่งมอบตู้สินค้าประเภทซากสุกรของตกค้างและของกลางในคดีพิเศษ ที่ 59/2566 จำนวน 161 ตู้ ไปทำลายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 แล้ว กรมศุลกากรให้ความร่วมมือและประสานงานร่วมกับ DSI และกรมปศุสัตว์ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ จนกว่าการทำลาย
ของกลางฯ จะสิ้นสุดลง สำหรับเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ กรมศุลกากรได้มีการดำเนินการลงโทษทางวินัยเรียบร้อยแล้ว
สำหรับ สถิติการจับกุมกรณีลักลอบและหลีกเลี่ยงศุลกากร กรณี เนื้อสุกรและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสุกร ในปีงบประมาณ 2564 มีการจับกุม 14 ราย น้ำหนัก 236,177 กิโลกรัม ปีงบประมาณ 2565 มีการจับกุม 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม และปีงบประมาณ 2566 มีการจับกุม 181 ราย น้ำหนัก 4,772,073 กิโลกรัม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น