สืบนครบาลกับ สืบ 112 รวบแอร์ราเชน เซียนนักตบมือถือ เหยื่อนับร้อย ความเสียหายนับล้าน
แอร์-ราเชน เซียนนักตบมือถือรางวัลออสก้า ตระเวนก่อเหตุ “หลอกซื้อโทรศัพท์มือถือ” ทั่วเมืองกรุง เหยื่อนับร้อย ความเสียหายนับล้าน แผนประทุษกรรมสุดและแยบยลทำเอา ผู้การจ๋อ โปรไฟล์เลอร์นักวิเคราะห์แผนประทุษกรรมชื่อดัง ถึงกับเส้นกระตุก ส่งชุดสืบนครบาลและ นักเรียนสืบรุ่น 112 จับกุมตัวได้ แต่ยังไม่สิ้นสุดการแสดง คนร้ายปล่อยโฮเรียกน้ำตาจระเข้ สร้างสตอรี่ชีวิตรันทดหดหู่ เรียกคะแนนสงสารชุดจับกุม แต่ไม่ได้ผลเมื่อเหล่ากฐินจากผู้เสียหายตามมาดูตัวและให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ จนสุดท้ายเจ้าตัวยอมรับ ทำไปเพราะติดพนันและเปย์ ไซด์ไลน์ ล่าสุดผู้การจ๋อติดประกาศเปิดเผยใบหน้า ท่านใดเคยตกเป็นเหยื่อรีบแจ้งเบาะแสมาที่เพจ สืบนครบาล IDMB
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. สั่งการให้ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.พัชรดนัย การินทร์ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.ธนากร อ่อนทองคำ ผกก.สส.4 บก.สส.บช.น. , พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ , ร.ต.อ.ศิวัช ยังอุ่น , ร.ต.อ.กฤษณะ ชนิดไทย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ สืบนครบาล และเหล่านักเรียนอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญา รุ่นที่ 112 ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุมตัว
นายวิมลสรากร เกตุวันธรรม หรือ นายวัฒนชัย จิตรีเหิม (ชื่อเก่า) ชื่อเล่น แอร์ ชื่อแฝง ราเชน อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 581/2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย จ.กรุงเทพฯ ผู้ต้องหา
โดยกล่าวว่า “ลักทรัพย์ผู้อื่นโดยใช้กลอุบาย
ตามหมายจับ 4 หมายจับ ดังนี้
1.หมายจับศาลอาญาที่ จ.2618/2566 ลงวันที่ 18 ส.ค. 66 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ โดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” พื้นที่ สน.พญาไท
2.หมายจับศาลจังหวัดธัญบุรีที่ จ.398/2566 ลงวันที่ 29 มิ.ย. 66 ข้อหา “ฉ้อโกงทรัพย์” พื้นที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
3.หมายจับศาลจังหวัดธัญบุรีที่ จ.39/2566 ลงวันที่ 25 ม.ค. 66 ข้อหา “ลักทรัพย์ผู้อื่นโดยใช้กลอุบาย” พื้นที่ สภ.ประตูน้ำจุฬา
4.หมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่จ.76/2566 ลงวันที่ 5 พ.ค. 66 ข้อหา “ตัวการในข้อหาถ้าการกระทำความผิดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะหรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพี่อประโยชน์สาธารณะ” พื้นที่ สภ.สำโรงเหนือ
พบประวัติต้องโทษคดีในลักษณะเดียวกันตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบันอีกกว่า 11 คดี ในพื้นที่ สน.ห้วยขวาง , สน.บุคคโล , สน.สำราญราษฎร์ , สน.พญาไท , สน.บางกอกน้อย , สน.โชคชัย , สน.บางยี่เรือ , สภ.คลองหลวง , สภ.ประตูน้ำจุฬา และ สภ.สำโรงเหนือ
พฤติการณ์กล่าวคือ สุดแพรวพราว แอร์-ราเชน หรือ นายวิมลสรากร เกตุวันธรรม นักต้มตุ๋นรางวัลออสก้า อาชญากรสุดแสบที่ตระเวน “หลอกซื้อโทรศัพท์มือถือ” มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อทั่วกรุงเทพฯไม่ต่ำกว่า 100 ราย ความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่าล้านบาท โดยมีแผนประทุษกรรมสุดแยบยล เริ่มต้นจากเจ้าตัวจะแฝงตัวอยู่ในเฟสบุ๊คตามกลุ่มซื้อขายโทรศัพท์ จากนั้นจะหาเหยื่อที่ “โพสขายโทรศัพท์” จากนั้นจะเข้าไปสนทนาติดต่อขอซื้อโดยวิธีการ “ชนมือ” หรือการนัดพบเพื่อซื้อขายนั้นเอง เจ้าตัวจะเลือกเหยื่อที่อยู่ในพื้นที่ จ.กรุงเทพฯ ซึ่งไม่ไกลจากที่พัก จากนั้นเมื่อคนร้ายได้นัดหมายเจอกันกับเหยื่อ และถึงขั้นตอนการจ่ายเงินซื้อโทรศัพท์จากเหยื่อ คนร้ายจะทำทีกดโทรศัพท์โอนเงิน แต่จะโอนในรูปแบบ “โอนล่วงหน้า” กรรมวิธีนี้แนบเนียนเพราะหน้าที่ทำรายการจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการโอนเงินจริงๆ และแม้จะไม่มีเงินในบัญชีก็สามารถกดโอนล่วงหน้าเช่นนี้ได้ โดยไคล์แม็กส์จะอยู่ที่เมื่อคนร้ายกดโอนเงินล่วงหน้าสำเร็จแล้ว แอ็พพลิเคชั่นธนาคารจะขึ้นว่าการโอนเงินล่วงหน้าสำเร็จ คนร้ายจะนำภาพสลิปโอนเงินซึ่งเป็น “สลิปปลอม” โชว์ให้เหยื่อดู เสมือนมีการโอนเงินให้เหยื่อแล้วจริงๆ ซึ่งเมื่อเหยื่อเห็นว่าคนร้ายได้โอนเงินให้แล้วก็ส่งมอบโทรศัพท์ให้ไปเหมือนเป็นการปิดการขายแล้วแยกย้ายกันไป ซึ่งกว่าเหยื่อจะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อได้ตรวจสอบเงินในบัญชีของตัวเองโดยละเอียดเท่านั้น เรียกว่าการแสดงหน้างานของคนร้ายเข้าขั้นโคตรเซียน โดยในปัจจุบัน เหล่าผู้เสียหายผุดขึ้นมาอย่างไม่หยุดไม่หย่อนจนตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 100 รายแล้ว พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ส่งชุดสืบนครบาล และ สืบ112 ติดตามไล่ล่าคนร้ายรายนี้ แต่ความฉลาดล้ำลึกของเจ้าตัวไม่เหมือนอาชญากรทั่วไปเพราะเคยถูกกลุ่มผู้เสียหายไล่ล่า และเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวมาแล้ว 1 ครั้ง ทำให้เจ้าตัวมีทักษะการหลบหนีที่ไม่ธรรม จนผู้การจ๋อต้องงัดแผน “ล่อเข้” สั่งการชุดสืบสวนกว่า 10 ราย แฝงตัวเป็นพ่อค้าขายโทรศัพท์ในเฟสบุ๊ค กระทั่ง “ปลากินเบ็ด” คนร้ายได้ติดต่อมาซื้อโทรศัพท์จากทีมสืบสวน กระทั่งนัดหมายและสามารถจับกุมตัวคนร้ายได้ที่ บริเวณร้านอาหารตามสั่งหน้า สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ(สายใต้เก่า) แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย จ.กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 66 เวลาประมาณ 20.40 น.
ในชั้นจับกุม นายวิมลสรากร เกตุวันธรรม ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า “ตนเองเริ่มเดินสายโจรตั้งแต่ที่พ่อของตนเองเสียชีวิตและถูกบรรดาญาติพี่น้อง เอาเงินประกันไปหมด โดยแรกเริ่มได้ไอเดียจากการลองโอนเงินแบบ โอนล่วงหน้า จึงเกิดไอเดียในการหลอกลวงคนอื่น โดยเงินที่ได้มาจะนำไปเล่นการพนัน และนำไปเปย์ให้กับสาวไซด์ไลน์ และยอมรับตนเองก่อเหตุลักษณะนี้มาหลายปีแล้ว ในครั้งแรกๆการแสดงไม่เนียนถูกจับได้ก็ถูกไล่กระทืบ บางครั้งถึงกับต้องกราบเท้าเจ้าของโทรศัพท์เพื่อให้รอดจากสถานการณ์ ซึ่งสั่งสมมาเป็นประสบการณ์จนปัจจุบัน ซึ่งมั่นใจว่าทำได้อย่างแนบเนียน ซึ่งตนเองพยายามใช้ชีวิตอย่างแนบเนียนมาตลอดไม่คิดว่าจะมาถูกตำรวจจับได้จากการล่อซื้อแบบนี้” หลังจับกุมตัว ได้นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬา ดำเนินคดีตามกฏหมาย
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. กล่าวว่า “เราไม่ปักใจเชื่อในคำให้การของผู้ต้องหา รวมไปถึงไม่ได้คล้อยตามน้ำตาจรเข้ของผู้ต้องหารายนี้ เพราะพยานหลักฐานจากฝั่งผู้เสียหายจำนวนมากนั้นมัดแน่น และที่สุดอันตรายคือ แผนประทุษกรรมการที่คนร้ายเลือกเปิดเผยใบหน้ามาเฟสทูเฟสในการซื้อขาย การตีเนียนกดโทรศัพท์โอนเงินต่อหน้าเหยื่อให้เห็นหน้าแอ็พพลิเคชั่นธนาคารและหน้าการโอนเงินล่วงหน้าสำเร็จ บวกกับลูกล้อลูกชนแต่งตัวเป็นพนักงานทำทีเร่งรีบ ล้วนเป็นแผนการของคนร้ายรายนี้ทั้งสิ้น ทำเอาเหยื่อเกือบทุกราย ถูกเชือดแบบไม่รู้ตัว และความล้ำลึกของแผนการคนร้ายรายนี้ยังไม่จบสิ้น เพราะเมื่อเหยื่อเดินทางไปแจ้งความ เหยื่อจะมักแจ้งความเพียงว่าตนเองถูก ฉ้อโกง ซึ่งแท้จริงเป็นพฤติการณ์เข้าข่าย ลักทรัพย์ผู้อื่นโดยใช้กลอุบาย ผมไม่ต้องการให้คนร้ายรายนี้เพ่นพ่านในสังคม ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อหรือที่กำลังจะตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งมาได้ที่ บก.สส.บช.น. ทางโทรศัพท์หรือช่องทางเฟสบุ๊คเพจ สืบสวนนครบาล IDMB เรามีเจ้าหน้าที่ประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง แม้ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ แต่หากเป็นความเดือดร้อนของประชาชน เราทำทันที ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น