วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ป.ป.ช. มุกดาหาร ตรวจสอบกรณีสถานีจุดบริการน้ำแร่ บ้านคำชะอี ใช้งานไม่ได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ

 ป.ป.ช. มุกดาหาร ตรวจสอบกรณีสถานีจุดบริการน้ำแร่ บ้านคำชะอี ใช้งานไม่ได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ

 


       วันนี้ (22 สิงหาคม 2566) นายนิรุท สุขพ่อค้า ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีได้รับแจ้งข้อมูลเบาะแสการทุจริตจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center) หรือ ศูนย์ CDC กรณีปรากฏข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์เฟสบุ๊ค “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 โดยเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสถานีจุดบริการน้ำแร่ บ้านคำชะอี หมู่ที่ 1 อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ว่าสถานีจุดบริการน้ำแร่ บ้านคำชะอี หมู่ที่ 1 ใช้ไม่ได้เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ

 


     จากการลงพื้นที่พบว่า เดิมโครงการดังกล่าวมีสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลที่ 10 อุดรธานี เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ ในการสำรวจขุดบ่อน้ำบาดาล และจัดจ้างเอกชนในการก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตน้ำ และเมื่อมีการดำเนินโครงการแล้วเสร็จในวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลที่ 10 อุดรธานี ได้มีการโอนสถานีจุดบริการน้ำแร่ดังกล่าวให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอี เป็นผู้บริหารจัดการ ดูแลรับผิดชอบและบำรุงรักษา

 


     โดยสถานีจุดบริการน้ำแร่ดังกล่าว  สามารถผลิตน้ำสำหรับแจกจ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค แก่ประชาชนในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอีได้  

โดยทราบข้อเท็จจริงจากผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอีว่า องค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอี มิได้มีปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณในการชำระค่าไฟของสถานีจุดบริการน้ำแร่ดังกล่าวแต่ประการใด  และมีการตั้งงบประมาณไว้เพียงพอสำหรับชำระค่าไฟในแต่ละเดือน ซึ่งกรณีที่เกิดปัญหาความเข้าใจผิดว่าองค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอีไม่มีงบประมาณในการชำระค่าไฟเป็นเหตุให้ไม่สามารถผลิตน้ำแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ได้นั้น  ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอี ให้ข้อมูลว่าอาจมีสาเหตุมาจากกรณีที่ระบบกำลังการผลิตน้ำสำหรับบริโภค มีขีดความสามารถในการผลิตน้ำได้เพียงปริมาณ 500 ลิตร/ชั่วโมงเท่านั้น หากในช่วงเวลาใดที่ประชาชนนำอุปกรณ์หรือภาชนะมาบรรจุน้ำพร้อม ๆ กันจำนวนมาก เครื่องก็อาจไม่สามารถผลิตน้ำเข้าสู่ถังจ่ายน้ำได้ทันต่อปริมาณความต้องการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตและจ่ายน้ำเข้าถังใหม่ให้เต็ม ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ จึงอาจเป็นสาเหตุให้ประชาชนเข้าใจว่าเครื่องผลิตน้ำเสีย หรือไม่สามารถจ่ายน้ำได้

 


       ส่วนกรณีการชำรุดเสียหายของอุปกรณ์ในโครงการนั้น พบว่า ก่อนหน้านี้อุปกรณ์สูบน้ำหรือ ซัมเมอร์สที่ใช้สูบน้ำจากบ่อบาดาลจำนวน 2 ตัว ได้เกิดความชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 องค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอี ได้ดำเนินการเปลี่ยนซ่อมแซมอุปกรณ์ซัมเมอร์สให้สามารถกลับมาดำเนินการสูบน้ำจากบ่อบาดาลเพื่อนำมาผลิตน้ำได้เป็นปกติแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และสามารถใช้งานได้มาจนถึงปัจจุบัน และมีการตั้งงบประมาณสำหรับเป็นค่าบำรุงซ่อมแซมหากเกิดกรณีการชำรุดเสียหายของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในปี 2567 ไว้ประมาณ 500,000 บาท 




         โดยหลังจากการรับทราบรายงานข้อมูลและลงพื้นที่ตรวจสอบ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมุกดาหาร ได้ให้ข้อแนะนำกับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอี เกี่ยวกับการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจของประชาชน เช่น การติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้น้ำทราบถึงข้อจำกัดของระบบผลิตและจ่ายน้ำในโครงการ ว่าสามารถผลิตและจ่ายน้ำเพื่อการบริโภคได้พียง 500 ลิตร/ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังเช่นที่ผ่านมา และแนะนำให้มีกระบวนการประชาคมของแต่ละหมู่บ้านที่ใช้น้ำจากโครงการดังกล่าว เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กติกา ในการมารับแจกจ่ายน้ำเพื่อการบริโภคจากสถานีจุดบริการน้ำแร่ดังกล่าว เช่น การกำหนดช่วงเวลาในการมารับน้ำ กำหนดปริมาณจำนวนลิตรในการมารับน้ำของประชาชนในแต่ละรอบว่าประชาชนที่มารับน้ำ หนึ่งคนสามารถนำภาชนะมาบรรจุน้ำได้จำนวนกี่ลิตรต่อหนึ่งรอบ เพื่อให้สามารถแจกจ่ายน้ำสำหรับการบริโภคได้อย่างทั่วถึง และสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่สามารถผลิตได้ในแต่ละวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น