วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2566

สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เร่งขยายเครือข่ายความร่วมมือการจัดทวิภาคีคุณภาพสูง กับองค์กร IM Japan (International Management Japan

 สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เร่งขยายเครือข่ายความร่วมมือการจัดทวิภาคีคุณภาพสูง กับองค์กร IM Japan (International Management Japan) 

“พัฒนากระบวนการสร้างคนคุณภาพสูงสู่ความสำเร็จด้วยความร่วมมือ”



เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 เวลา 9.00 น. นายอรรถการ ตฤษณารังสี นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 นายสมศักดิ์ บุญโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 คณะผู้บริหารสถาบัน และ Mr.Hedata Tamura ผู้จัดการ IM Japan Thailand พร้อมทีมงาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมนนทรี อาคารอำนวยการ และคุณมาลี วาดะ ที่ปรึกษา IM Japan Thailand ได้ประชุมระบบออนไลน์จากประเทศญี่ปุ่น ประเด็นหารือ ความร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพในระดับนานาชาติ เนื่องจากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เป็นสถาบันการศึกษาทางอาชีพที่เน้นการสอนและการพัฒนาทักษะทางอาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อให้พร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานคุณภาพสูง โดยการจัดหลักสูตรที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะเป็นผู้นำในงานอุตสาหกรรม  โดยองค์กร IM Japan เป็นองค์กรที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ มุ่งเน้นการพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาทางอาชีพในประเทศญี่ปุ่นโดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมทางอาชีพและการบริหารจัดการที่เน้นความสามารถในการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ท้าทาย ในโลกอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้สนใจต้องสมัครเข้าโครงการ สอบวัดสมรรถนะร่างกาย และสอบข้อเขียน หลังจากผ่านการคัดเลือกจะเข้ารับการอบรมที่ประเทศไทยเป็นระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างอบรมไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (ระหว่างอบรมจะได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม เทคนิคการทำงานที่จำเป็น) หลังผ่านการอบรมแล้วไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 ปี เงินเดือนที่ได้รับระหว่างฝึกประมาณ 140,000-180,000 เยน และหลังฝึกเสร็จกลับประเทศไทยจะได้รับเงินตั้งตัวอีก 600,000 เยน โดยการประชุมสรุปประเด็นได้ดังนี้



1. สถานศึกษาในสังกัดสถาบันอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM Japan 

2. การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นความต้องการของตลาดแรงงานและพัฒนาทางอาชีพ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนและให้คำปรึกษาในด้านการบริหารจัดการอาชีวศึกษากับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการพัฒนาอาชีพ

3. นักเรียน นักศึกษาที่ร่วมโครงการได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะการทำงานตามมาตรฐานประเทศญี่ปุ่น วัฒนธรรมและภาษา






การประชุม หารือในครั้งนี้จะเสริมสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งความเป็นเลิศของการบริหารจัดการอาชีวศึกษาทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการอาชีวศึกษากับองค์กรและตลาดแรงงานประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูให้กับนักเรียนและบุคลากรสอนในการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนและการฝึกอบรมในสถานประกอบการในประเทศญี่ปุ่น./


#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น