"เรือนจำ จ.ภูเก็ตจับมือภาคเอกชนลงนามบันทึกข้อตกลงประสานความร่วมมือในการคืนคนดีสู่สังคมตามโครงการจ่ายนักโทษเด็ดขาดออกทำงานฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำ !!
วันนี้ (2 พ.ค.66) เวลา 10.00 น.ณ ห้องประชุมมุขหน้าชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงประสานความร่วมมือในการคืนคนสู่สังคม ตามโครงการจ่ายนักโทษเด็ดขาดออกทำงานฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำระหว่างเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมี นายกฤษณะ ทิพยจันทร์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดภูเก็ต และนายกฤษฎา พิเชฐพงษานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเริงวารี สปีดโบ๊ท จำกัด ทำพิธีร่วมลงนามดังกล่าว
นายกฤษณะ ทิพยจันทร์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โครงการจ่ายนักโทษเด็ดขาดออกทำงานฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำเป็นโครงการที่กรมราชทัณฑ์จัดทำขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้เป็นบุคคลที่สามารถเข้ากับสังคมทั่วไปได้ และให้ผู้ต้องขังมีอาชีพติดตัวภายหลังพ้นโทษหรือเพื่อให้ผู้ต้องขังนำวิชาชีพไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ด้วยการบูรณาการร่วมกับบริษัทเอกชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการฝึกวิชาชีพแก่ผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดภูเก็ตจึงได้สนองนโยบายกรมราชทัณฑ์ โดยการนำผู้ต้องขังออกไปทำงานในสถานประกอบการร่วมกับ บริษัทเริงวารี สปิดโบ๊ท จำกัด เลขที่ 32/3 หมู่ที่ 2 ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการอู่เรือที่รับต่อเรือและให้บริการรับซ่อมเรือ สปีดโบ๊ท รวมทั้งเรือประเภทอื่น 1 ตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงการซ่อมและผลิตเรือที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี และมีผลงานการผลิตและซ่อมเรือในแต่ละปี มากกว่า 50 ลำ เพื่อให้โอกาสผู้ต้องขังออกไปฝึกวิชาชีพในสถานที่ดังกล่าว
โดยเนื้อหาของการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ประกอบด้วย ผู้ต้องขังที่จะออกทำการฝึกอบรมวิชาชีพในสถานประกอบการนี้ จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการจ่ายนักโทษเด็ดขาดออกทำงานฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำ พ.ศ.2565 โดยสรุป คือ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษและ เหลือโทษที่จะต้องจำต่อไปไม่กินสามปีหกเดือน หากเป็นคดียาเสพติด ต้องโทษเป็นครั้งแรก ไม่เป็นผู้กระทำผิดรายสำคัญ ต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการที่ผู้บัญชาการแต่งตั้ง เป็นต้น
โดยผู้ต้องขังที่ไปทำงานในสถานประกอบการจะได้รับค่าตอบแทนตามที่ได้ตกลงกับสถานประกอบการ เพื่อที่เรือนจำจะได้นำไปจ่ายเป็นรางวัลแก่ผู้ต้องขังและเจ้าพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงาน ทั้งนี้ ในระยะ 3 เดือนแรก จะนำผู้ต้องขังจำนวน 10 คน และเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม 1 คน ออกไปทำงานในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.30 น.หยุดวันเสาร์วันอาทิตย์ โดยผู้ต้องขังจะได้รับค่าจ้างตามแรงงานขั้นต่ำของจังหวัดภูเก็ต คือวันละ 354 บาท โดยผู้ต้องขังจะเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป
นายกฤษณะ กล่าวในตอนท้ายว่า เรือนจำจังหวัดภูเก็ต หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมภายนอกจะให้การยอมรับผู้ต้องขังที่ออกไปทำงานสถานประกอบการภายนอกเรือนจำ เพื่อเป็นการให้โอกาส สร้างรายได้และลดรายจ่ายให้กับครอบครัวในขณะต้องโทษและสามารถนำเป็นทุนในการประกอบอาชีพได้
///////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น