รมว.สุชาติ มอบเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานในพิธีเพื่อน้อมรำลึก "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย"
กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” พร้อมนิทรรศการเทิดพระเกียรติ และกิจกรรมวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2 มีนาคม 2566 เน้นสร้างความเข้าใจให้แรงงานไทยเห็นความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเชิดชูคุณค่าแรงงานฝีมือ
วันที่ 2 มีนาคม 2566 ณ บริเวณชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานจัดงาน “วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยในงานมีพิธีถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” มีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และอีกหลายหน่วยงาน เข้าร่วมพิธีวางพานพุ่มสักการะ พร้อมทั้ง เยี่ยมชมนิทรรศการที่เผยแพร่ข้อมูลภารกิจมาตรฐานฝีมือแรงงานที่จัดแสดงภายในงาน ขณะที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศร่วมจัดพิธีดังกล่าว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ณ ศาลากลางจังหวัด ศาลาประชาคม หอประชุมอำเภอ สำนักงานจังหวัด เพื่อน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เปิดเผยหลังจากเป็นประธานว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์เป็น“พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” พร้อมกับกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งวันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน และพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทย ความตอนหนึ่งว่า
“...ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่าง จึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริง ๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า” พระองค์ได้ฝากความคิดนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ
จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะผ่านมาถึง 53 ปีแล้ว ยังคงทันสมัยและนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติ ในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือ พัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมประชาคมโลก
นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่า นอกจากพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้ว ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ในฐานะที่พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านงานช่าง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ กระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ก็ยังคงสนพระราชหฤทัยในงานช่างอย่างสม่ำเสมอ และทรงใช้ทักษะและความถนัด ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ด้วยพระองค์เอง เป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่สร้างชื่อเสียง และคุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ และกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมการแปรอักษรเลข 9 โดยบุคลากรกรมพัฒนาฝีมือแรงงานอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น