วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2565

วิษณุ เครืองาม เปิดใจหลังรับรางวัลพ่อดีเด่น สอนลูกใช้ธรรมาภิบาลในครอบครัว

 


วิษณุ เครืองาม เปิดใจหลังรับรางวัลพ่อดีเด่น สอนลูกใช้ธรรมาภิบาลในครอบครัว




ตามที่ สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม วุฒิสภา จัดงาน “น้อมรำลึกพ่อหลวงไทย ร่วมใจเชิดชูวัฒนธรรม” เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2565 พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “พ่อดีเด่นแห่งชาติ” จำนวน 27 รางวัล ใน 3 ประเภท คือ 1.ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ 9 รางวัล 2.ภาคเอกชน 9 รางวัล และ 3.บุคคลทั่วไป 9 รางวัล มีพ่อจากทุกวงการอาชีพที่ได้รับรางวัลดังกล่าว



ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ ประเภทข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ได้ให้สัมภาษณ์เปิดใจว่า ตนมองว่าจริงๆ ควรมอบรางวัล “ลูกดีเด่น” ให้กับบุตรชายมากกว่า เพราะตนเลี้ยงลูกในลักษณะให้ช่วยเหลือตนเองได้ ทำให้เป็นคนที่อยู่ในโอวาท เชื่อมั่นในตนเอง เรียนรู้และพยายามเดินตามรอยของพ่อในเรื่องการใช้ชีวิต การเรียน




“แต่ในเรื่องการเมืองนั้น เขายืนยันว่าไม่เอาด้วยเด็ดขาด แม้ว่าผมจะไม่ค่อยมีโอกาสได้สอนกฎหมายกับลูก แต่ลูกชายผมเรียนรู้กับน้าที่เป็นนักกฎหมายเหมือนกัน ผมไม่เคยไปแนะ หรือชี้นำความคิดของลูกในเรื่องการเมือง หลายครั้งที่มีความรุนแรงด้านการเมือง เขารับรู้ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร บางทีลูกยังเป็นคนที่แนะนำและเตือนผมด้วยซ้ำ เราคุยกันบ่อย แต่ไม่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองกัน เขาเห็นผมเป็นนักกฎหมาย เขาก็เรียนกฎหมาย เข้ามหาวิทยาลัยเดียวกับผม ผมภูมิใจในตัวเขามาก จนต้องบอกว่า ผมไม่ควรเป็นพ่อดีเด่น แต่เขาควรเป็นลูกดีเด่น” นายวิษณุกล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังได้ย้ำเรื่องหลักธรรมาภิบาลในครอบครัว ทุกคนคุยกับด้วยความโปร่งใส ต่างมีส่วนร่วม และมีความรับผิดรับชอบร่วมกัน




ทั้งนี้ นายวิษณุกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ได้ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกชายเห็น ซึ่งเป็นมาตั้งแต่รุ่นของตน นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเดินตาม ฉะนั้น เราต้องทำตัวเราให้ดีที่สุด ดีกว่ามานั่งสอน ใช้ไม้มาดุด่าว่ากล่าวกัน เมื่อเขามีลูก เขาก็จะดูแลในลักษณะแบบเดียวกัน







นายสมศักดิ์ ถนอมวรสิน

ด้าน นายสมศักดิ์ ถนอมวรสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด ผู้ได้รับรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ ประเภทเอกชน กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก


“พูดง่ายๆ ว่า จากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี ทำให้เด็กในสมัยนี้มีความต่างจากเด็กสมัยก่อนเยอะ เพราะเขาพึ่งพาการเรียนรู้ในโรงเรียนน้อยลง มีความสามารถเรียนรู้จากที่อื่นๆ ได้มากขึ้น ฉะนั้น เราจะต้องสอนลูกตั้งแต่เด็กๆ เน้นเรื่องการเห็นคุณค่าของเงิน คุณค่าของคน โดยเราไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปใช้จ่ายซื้อของแพง ซื้อรถยนต์หรู แต่เราสามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้ ผมก็เข้าไปอยู่ในสังคมผ่านสมาคมต่างๆ เพื่อศึกษาเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ศึกษาเรื่องสังคมผู้สูงวัย เพราะตอนนี้คนรุ่นผมเป็นเสมือนรถไฟขบวนสุดท้ายแล้ว ฉะนั้น เราต้องตามโลกให้ทัน” นายสมศักดิ์กล่าว และว่า เด็กสมัยนี้มีความคิดเป็นของตัวเองสูง ฟังพ่อแม่น้อยลง ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งของสังคมสมัยใหม่ แต่มองว่า ทุกอย่างจะต้องหาจุดสมดุลกัน เด็กเองก็ต้องเรียนรู้ปรัชญาวิถีของคนรุ่นเก่า ส่วนคนรุ่นเก่าเองก็ต้องศึกษาความคิดของคนรุ่นใหม่ด้วย เพื่อให้เราเข้าใจกัน โดยยังมีความอิสระเสรีทางความคิด เพื่อให้สังคมดีขึ้น




นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา

ขณะที่ นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ คนที่ 4 และประธานอนุกรรมาธิการด้านคุณธรรมและจริยธรรม ในฐานะประธานจัดงานกล่าวว่า ขณะนี้ตนมองว่าความจำเป็นปัจจุบันคือ การทำให้คนดีในสังคมที่มีมากกว่า 90% เป็นที่รู้จัก เป็นที่ชื่นชม เพราะที่ผ่านมา คนดีเงียบหายไป เนื่องจากคนให้ความสำคัญกับคนไม่ดีที่ทำในสิ่งที่ไม่ดีเพื่อเป็นคนดัง จึงเป็นความสำคัญของการมอบรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ เพื่อให้เป็นตัวอย่างให้คนรู้จักวิธีทำตัวให้ถูกต้อง เป็นแบบอย่างต่อไป ขณะเดียวกัน ขณะนี้สังคมเปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น คนก็มีลูกกันน้อยลง แต่อดีตที่ผ่านมา การมีครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ โดยความกตัญญูเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ที่เป็นสัตว์ประเสริฐ มีปัญญา มีความคิด เพราะเรารับรู้ถึงการรับและทำให้เรารู้จักการตอบแทน



“ความเจริญของโลกนี้ เกิดจากการที่มนุษย์ช่วยกันสร้าง ให้ซึ่งกันและกัน โดยพ่อเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ดิฉันเองเป็นคนโชคดีที่เกิดในครอบครัวที่ดีมาก พ่อมักจะสอนต่อๆ กันมา ให้รู้จักขยัน อดทน รักษาคำพูด ไม่เอาเปรียบคน ไม่สร้างศัตรู และคบคนดี เหล่านี้ทำให้คนในครอบครัวซึมซับและสอนต่อๆ กันไปแบบนี้ เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน” นางศิรินากล่าว./


#สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ 

#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น