วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

มทร.สุวรรณภูมิ "ลุย"จับคู่ สปก.สร้างหลักสูตรร่วม สร้างบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ

 มทร.สุวรรณภูมิ "ลุย"จับคู่ สปก.สร้างหลักสูตรร่วม สร้างบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ



  นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ(มทรส.)ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายสหกิจศึกษา เปิดเผยว่าวันนี้( 23 ก.ค 65 )ได้นำคณะผู้บริหาร มทรส.ประกอบด้วยคณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีการเกษตรฯ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เยี่ยมชม บริษัทไผ่สิงห์ทองจำกัด ตั้งอยู่ตำบลนรสิงห์ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสุกร ไก่ไข่ และปลาจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทในปี 2548 ด้วยทุนจดทะเบียน 220 ล้านบาท ปัจจุบันมีพื้นที่รวมกว่า1,300 ไร่ โดยเน้นขุนลูกหมูส่งจำหน่าย และมีโรงผลิตอาหารสัตว์(สุกร)สำหรับใช้ในฟาร์มซึ่งพอเพียงต่อจำนวนสุกรทั้งหมด ตลอดจนมีฟาร์มไก่ไข่ อีกทั้งขุดบ่อเลี้ยงปลาเบญจพรรณ(ปลานิล ปลาสวาย ปลายี่สก ปลาจีนฯลฯ)ระบบการจัดการของฟาร์มเป็นระบบปิด มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีแม่พันธุ์สุกรกว่า 2,500 ตัว และลูกหมูขุนกว่า 50,000 ตัวส่วนฟาร์มไก่ไข่มีกว่า 400,000 ตัว ผลิตไข่ได้วันละกว่า 360,000 ฟอง มีระบบการเลี้ยงที่ทันสมัย จึงเห็นว่าเป็นสถานประกอบการ(สปก.)อีกแห่งหนึ่งที่เหมาะสมกับการส่งนักศึกษาฝึกปฏิบัติสหกิจ เพื่อได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานจริงและเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งการผสมเทียมสุกร การดูแลและอื่นๆ ประกอบกับบริษัท อยู่ไม่ห่างไกลจาก มทรส.โดยเฉพาะคณะเทคโนโลยีการเกษตรฯตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วย







  นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า มทรส.มีนโยบายที่สำคัญและชัดเจน คือสร้างบัณฑิตที่เป็นคนดี มีความรู้ รักสู้งาน และก้าวสู่การเป็นมืออาชีพในแต่ละสาขาวิชา เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตามความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีที่ครบถ้วน การจับคู่กับ สปก.จึงเน้นเฉพาะ สปก.ที่มีมาตรฐาน เพื่อให้นักศึกษา สามารถเรียนรู้การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามสาขาวิชาที่เรียน เมื่อจบแล้วสามารถทำงานได้ทันทีโดยจะมีการบันทึกข้อตกลงร่วมกันต่อไป โดยเชิญกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมด้วย เพื่อให้ สปก.ได้ใช้สิทธิประโยชน์จาก พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะในการลดหย่อนภาษี ถึง 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายต่างๆแก่สถานประกอบการ ที่ใช้สำหรับการฝึกปฏิบัติ อาทิ ค่าตอบแทนรายวันหรือรายเดือน ค่าชุดฟอร์มเป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น