วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สอท.-กฟน.ลุยพัฒนาพลังงานหมุนเวียน-คาร์บอนเครดิต

 สอท.-กฟน.ลุยพัฒนาพลังงานหมุนเวียน-คาร์บอนเครดิต



สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง เดินหน้าโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิต




นายนพดล ปิ่นสุภา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม และนายวีรวัจน์ บัวทอง รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กรและความยั่งยืน การไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานในงานแถลงข่าวบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)  ระหว่าง การไฟฟ้านครหลวง และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (11 ก.ค.65)




โดยนายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน กล่าวรายงานว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการไทยทั้งภาคการผลิตและภาคการค้าที่กำลังจะประสบปัญหากลไกด้านสิ่งแวดล้อมแบบ Non-Tariff Barrier ที่ส่งผลให้ความต้องการในการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก เกิดธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย และยังมีความท้าทายที่ต้องการการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน




การที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง ในครั้งนี้ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่2 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ริเริ่มและสนับสนุนอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถซื้อขายไฟฟ้าข้ามสายส่ง และเปิดการอนุญาตทดลอง กติการูปแบบใหม่ๆ เพื่อทดลองแนวทางที่เหมาะสม และสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการสากล โดยโอกาสในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคสังคมคาร์บอนต่ำ




ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า โครงการ ERC Sandbox ระยะที่2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทดสอบทางเทคโนโลยีด้านพลังงานในสภาพแวดล้อมของการใช้งานจริงในพื้นที่และขนาดที่จำกัด อีกทั้งเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลนวัตกรรมด้านพลังงานทั้งในรูปแบบเปิดกว้างและแบบมุ่งเป้าในด้าน Green Innovation และ Green Regulation ทั้งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจการให้บริการทางด้านพลังงานแบบใหม่ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาต่ำลง ช่วยลดมลพิษจากการผลิตไฟฟ้าด้วยการจัดการแบบใหม่และการใช้พลังงานสะอาด




ขณะที่นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวถึงนโยบายของ สอวช. และการสนับสนุนการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโดยแบ่งเป็น 6 หลักสูตรคือ 1. Design Principle: Passive & Active Design 2. Energy Efficiency 3. Renewable Energy 

4. 3R + 1W + 1C 5. Carbon Credit Certificate 6. Carbon Credit/RE Platform ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2565




ทั้งนี้ นายนพดล ปิ่นสุภา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบพลังงานหมุนเวียนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ยังถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต และการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนควรที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับกติกาโลกใหม่ และบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนพลังงานทดแทนให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศภายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065


ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความร่วมมือของ 2 หน่วยงานในการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เพื่อจัดทำฐานข้อมูล และการรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิต โดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของสภาอุตสาหกรรมฯ ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 โดยการริเริ่มและสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือในโครงการนำร่องฯ จะส่งผลให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่ได้กล่าวมา


********************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น