วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"สัญญา นิลสุพรรณ ย้ำ กมธ.ตร. ตรวจสอบ ตามพยานหลักฐาน ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ ตร.อคฝ.ละเมิดกฏหมาย!!

 "สัญญา นิลสุพรรณ ย้ำ กมธ.ตร. ตรวจสอบ ตามพยานหลักฐาน ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ ตร.อคฝ.ละเมิดกฏหมาย!!



วันที่ 19 สิงหาคม 64 เวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.)การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดแถลงข่าวกรณีตรวจสอบการสลายผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อคฝ.โดยมี นายสัญญา นิลสุพรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ)การตำรวจ สภาผู้แทนราษฏร พร้อมด้วยนางสาว จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ)การตำรวจ สภาผู้แทนราษฏร และพ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ)การตำรวจ สภาผู้แทนราษฏรร่วมแถลงผลการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงเช้า ซึ่งมีพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) มาชี้แจงในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ตร.อคฝ.ในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุม



ซึ่งนางสาว จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ)การตำรวจ สภาผู้แทนราษฏรได้กล่าวสรุปผลการประชุมว่า คณะกมธ.ตำรวจ ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่สร้างผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชน วันนี้จึงได้เชิญ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)มาชี้แจงถึงภาพรวมการสลายชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อคฝ.ซึ่งพล.ต.ท.ภัคพงศ์ ได้ยืนยันต่อ กมธ.ตำรวจ ว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามแผนและคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อรักษาความสงบและควบคุมสถานการณ์ เกือบทุกครั้งที่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ก็จะพบทั้งอาวุธในที่เกิดเหตุ กรณีการรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้องสื่อมวลชน ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลเอง ได้กำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียบร้อยแล้ว โดยจัดให้สื่อมวลชนลงทะเบียนและสวมปลอกแขนสีขาว ซึ่งมีหมายเลขระบุ โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางที่ตำรวจระบุไว้ ส่วนกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอ้างว่า เป็นสนามซ้อมใช้กระสุนได้ไม่อั้นนั้น ผบช.น.ชี้แจงว่าการใช้อาวุธจะต้องได้รับการอนุมัติ เป็นขั้นตอนจากผู้บังคับบัญชาการทุกครั้ง และตามยุทธวิธีกรอบที่กำหนดไว้



ในส่วนประเด็นที่ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่อง"เมื่อฟังจากข้อสรุปของการประชุมดูเหมือนว่า คณะกมธ.ตร.ค่อนข้างรับฟังข้อมูลจากทางตำรวจทางเดียว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือช่วยกันเองหรือไม่"



นายสัญญา นิลสุพรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ)การตำรวจ สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า เบื้องต้นทาง คณะกมธ.ตร.ได้ประสานสื่อมวลชนบางส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมมาให้ข้อมูลกับคณะกมธ.ตร ด้วย เพื่อรับฟังข้อมูลอีกด้าน อย่างไรก็ตาม คณะกมธ.ตร.ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชุมนุม จึงยังไม่ได้เชิญเข้ามาให้ข้อมูล แต่ที่เรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงเพราะ คณะกมธ.ตร.มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง ซึ่งเราได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนจริงๆ หากพิจารณาไม่ดีก็จะเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย เราเน้นพิจารณาหลักฐานที่ปรากฏ และอุปกรณ์ ก็อยู่ในรายชื่ออุปกรณ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 48 อย่าง ที่ใช้ในการควบคุมการชุมนุม และพระราชกำหนดฉุกเฉิน ก็ไม่ได้มีมาตรการหรือรายละเอียดระบุไว้ แต่ตำรวจก็ได้นำ พระราชบัญญัติการควบคุมฝูงชน 2558 มาใช้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงยึดหลัก และกรอบขั้นตอนในการดำเนินงานตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ การเข้าดำเนินการควบคุมสถานการณ์ทุกครั้ง จะต้องเกิดเหตุตามความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและข้าราชการ นอกจากนี้ ผบช.น.ยังกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฎิบัติหน้าไม่เข้าไปจับกุมผู้ชุมนุมในพื้นที่อาศัยของประชาชน



ส่วนเรื่องคดีความ และผู้ที่บาดเจ็บจากกระสุนจริงนั้น พบว่า ทาง ผบช.น.ได้ยืนยันว่า มีผู้ปกครองและสหวิชาชีพมาร่วมตรวจสอบ ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่า ผู้บาดเจ็บไม่ได้บาดเจ็บจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากมีใครมีหลักฐานชี้ว่าการกระทำที่ไม่ตรงกับที่เราได้ตรวจสอบ เราก็ยินดีรับข้อมูลเพื่อสอบข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบต่อไป นายสัญญา กล่าวทิ้งท้าย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น