ส่องปม “กิตติพงษ์” พ้น ปตท.ส่อมีเบื้องหลัง
กระแสข่าวการลาออกจากกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของ ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานข่าวว่า เป็นการลาออกแบบเงียบๆ แต่มีผลสะเทือนที่ตามมากลับไม่ได้เงียบหายไปกับสายลม เนื่องจาก ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ไม่ได้เป็นบอร์ดธรรมดา แต่ยังเป็นกรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบด้วย
มีรายงานข่าวว่า การลาออกแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยครั้งนี้ ทางเจ้าตัวไม่ยอมปริปากให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยใน ปตท. เพราะแทบไม่มีเหตุผลใดที่เจ้าตัวจะต้องลาออกในช่วงนี้ สาเหตุมาจาก ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ได้รับแต่งตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งในบอร์ด ในฐานะ “กรรมการอิสระ” เมื่อปี 2558 และได้รับเป็นประธานกรรมการตรวจสอบ ซึ่งช่วงที่เข้าไปใน ปตท.ก็เป็นรัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็ยังเป็นนายกฯอยู่ในปัจจุบัน แมัจะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
ขณะที่สาเหตุการลาออกที่มีการระบุว่า “เนื่องจากมีภารกิจอื่น” ซึ่งดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก เพราะเป็นการลาออกก่อนวาระอย่างกระทันหัน โดยปกติการลาออกของประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นบริษัทระหว่างประเทศแบบ ปตท.เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่ส่งสัญญาณผิดที่กระทบกับภาพลักษณ์บริษัท และอาจทำให้มีการตีความว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นใน ปตท.กันแน่
โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาสื่อที่เกาะติดปัญหาทุจริตใน ปตท.ทราบกันดีว่า ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบ ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านการตรวจสอบทุจริต สมดังคำประกาศวาระแห่งชาติปราบทุจริตของรัฐบาล เพราะได้สะสางปมทุจริตเรื่องใหญ่ๆ ที่คาใจสังคมและผู้ถือหุ้นไปได้หลายเรื่อง
ที่สำคัญก็คือมีการดึงองค์กรตรวจสอบมืออาชีพและผู้สอบบัญชีระดับ big four ของโลก (บริษัท Deloitte Touche Tohmatsu) เข้าไปทำ forensic investigation จนสามารถเปิดโปงหลักฐานที่ชัดเจนของขบวนการโกงปาล์มอินโดฯ กระทั่งส่งสำนวนให้ ป.ป.ชไต่สวนต่อได้สำเร็จ แต่ส่งไปนานถึง 4 ปีแล้ว คดียังไม่คืบหน้า
สำหรับคดี “ปาล์มอินโดฯ” เป็นกรณีของ บริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ PTT.GE. บริษัทลูกของ ปตท. ถูกกล่าวหาว่าลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่พบความไม่ชอบมาพากลในการลงทุน และมีการจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริงกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้น ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ยังมีส่วนสำคัญในการร่วมมือกับประธานตรวจสอบ บริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC จนสามารถเปิดโปงขบวนการโกงทั้งระหว่างบริษัทในเครือ ปตท.ด้วยกันเอง และโยงใยสู่เครือข่ายภายนอก จากกรณีสต๊อกน้ำมันปาล์มในคลังคู่ค้าสูญหาย ส่อว่าจะเป็น “สต็อกลม” ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับผู้เกี่ยวข้อง
ฉะนั้น การลาออกจากกรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบของ ปตท.อย่างปัจจุบันทันด่วน แบบ “ฟ้าผ่า” ของ ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ จึงเป็นการส่งสัญญาณให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นใน ปตท. รัฐวิสาหกิจมูลค่าหลายแสนล้านที่เป็นสมบัติของชาติแห่งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น