วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

“ศธจ.สุรินทร์ พลิกโฉมการศึกษาไทย มุ่งเน้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การสร้างอาชีพสร้างรายได้ ของเด็กไทยในอนาคต”

 “ศธจ.สุรินทร์ พลิกโฉมการศึกษาไทย มุ่งเน้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การสร้างอาชีพสร้างรายได้ ของเด็กไทยในอนาคต” 



ตามที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมต.ศธ.มีนโยบายการขับเคลื่อนการศึกษาโดยมุ่งเน้นกับการพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21 จากผลการประชุมของสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SEAMEO Congress 2021 เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญของ“เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence)” จะมาใช้แทนการทำงานของมนุษย์เพื่อให้โลกดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานและมีความยั่งยืน ซึ่งสมาชิกกลุ่มประเทศซีมีโอต้องร่วมมือกันในการสำรวจทิศทางและนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนโยบายของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ.ได้ส่งเสริม “Coding for AII” การศึกษาทุกภาคส่วนทั้งอุปกรณ์และให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจาก สสวท.จัดอบรมให้กับครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สนใจ โดยกิจกรรม Coding ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องส่งเสริมภาคการศึกษากับเศรษฐกิจของประเทศให้พัฒนาสู่ Super AI ฝีมือคนไทย รวมทั้งนโยบายของ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ.ที่มุ่งเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพ ส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบที่ยั่งยืนด้วยการพัฒนาเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสังคมผู้สูงอายุและคนพิการให้ใช้ชีวิตบนพื้นฐานความเท่าเทียมในทุกด้านผ่านมุมมองปัญญาประดิษฐ์ AI คือเครื่องมือที่ต้องนำมาปรับใช้พัฒนาต่อยอดสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ




ดร.สัมนาการณ์ บุญเรือง ศธจ.สุรินทร์กล่าวต่อว่า มุมมองของผม ในขณะที่ทั่วโลกทุกภาคส่วนกำลังเผชิญวิกฤตการณ์การชะลอตัวจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผมและทีมงานไม่หยุดนิ่งได้ใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส ในการวิจัยทดลองสร้างหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ “ครู EDU” คาดหวังให้หุ่นยนต์เป็นสื่อในการสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เด็กไทยสนใจเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์คิดค้นสร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร AI รูปแบบอื่นๆ เช่น ทางการแพทย์ การทหาร คมนาคมขนส่ง ธุรกิจอุตสาหกรรม การบริการ ฯลฯ สู่การอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์โลก โดยมีเป้าหมาย คือ การเตรียมความพร้อมของเด็กไทยรองรับการเปิดเสรีของโลกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI  เพื่อการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในอนาคต โดยมี บริษัทจีพี เอ็ดดูเคชั่น ทีมวิจัย วิทยาลัยสารพัดช่างบุรีรัมย์ วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ ทีมปั้นและงานศิลป์ จากมหาวิทยาลัยศิลปกร เป็นที่ปรึกษา 

 





      

การรับนโยบายนำมาปรับสู่การปฏิบัติในการพลิกโฉมการศึกษาไทยโดยการหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัยซึ่งผมมุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ที่ในขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก กระบวนการวิจัยทดลองสร้างหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ที่ผมและเครือข่ายดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 หวังให้หุ่นยนต์ครู EDU เป็นแนวทางนำไปสู่การถอดองค์ประกอบรูปแบบการจัดทำหุ่นยนต์ AI เพื่อนำผลการค้นคว้าทดลองและวิจัยไปปฏิบัติตาม ให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้สามารถสร้างหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร AI ในรูปแบบอื่นๆได้ ซึ่งที่ผ่านมาการจัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและ อุดมศึกษา ของ ศธจ.สุรินทร์ ได้นำไปสู่ภาพความสำเร็จคือผู้เรียนเกิดทักษะการทำหุ่นยนต์เข้าแข่งขัน ได้รับรางวัลเป็นผลงานการันตี ประกอบด้วยโรงเรียนวาณิชย์นุกูล โรงเรียนสุรวิทยาคาร วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ วิทยาลัยการอาชีพท่าตูม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสุรินทร์ และโรงเรียนต่าง ๆ ของ จ.สุรินทร์ อีกมากมาย 

   



 

วันที่ 22 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา นายไพศาล วุทฒิลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการ

ในตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค 13 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ณ วิทยาลัยเทคนิคคูเมือง จ.บุรีรัมย์ ได้รับชมการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการศึกษาโครงการวิจัยทดลองหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ “ครู EDU” ที่มีความก้าวหน้า 60% ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทักษะอาชีพด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ให้เด็กไทยเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในอนาคต สอดคล้องตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ จึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ศธจ.สุรินทร์ กับ ศธจ.บุรีรัมย์ ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาด้านเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา  เรื่องหุ่นยนต์  และจะขยายผลให้ครอบคลุมทั้ง 4 จังหวัดในระดับภาคต่อไป

    



ในวันนี้ ศธจ.สุรินทร์ ได้ดำเนินโครงการ “ขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา และประสิทธิภาพการศึกษา จ.สุรินทร์ โดยผ่านกลไก กศจ.”เป็นการนำร่องบูรณาการจัดการศึกษารูปแบบโครงงานร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ในการพัฒนา “สร้างหุ่นยนต์ช้างพูดได้”สัตว์คู่บ้านคู่เมือง สัญลักษณ์แห่งเมืองสุรินทร์ โดยนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนให้เกิดความทันสมัยไปพร้อม ๆกับการซึมซับความเป็นถิ่นฐานบริบทของสังคม เป็นต้นแบบนำร่องหุ่นยนต์ AI ในระดับจังหวัดที่ได้แรงบันดาลใจจากหุ่นยนต์ครู EDU และในโครงการจะจัดกิจกรรมเวทีส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานด้านการจัดการเรียนรู้เทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้สถานศึกษาที่มีความสนใจเข้าร่วมเสวนาหรือโชว์ผลงานหุ่นยนต์สร้างสรรค์ เรียนรู้ผ่านการนำเสนอ โครงงานจัดแสดง หุ่นยนต์ครู EDU และ หุ่นยนต์ช้างพูดได้ แนวทางเหล่านี้จะช่วยสร้างเสริมองค์ความรู้ที่เป็นทักษะที่จำเป็น และมีความสำคัญในตลาดแรงงานโลก ที่ภาคการศึกษาต้องเร่งสนับสนุนให้สมรรถนะเด็กไทยพัฒนาเพิ่มมูลค่ากับแรงงานไทยในอนาคตสู่ทักษะเชี่ยวชาญ เป้าหมายเพื่อเตรียมคนไทยรองรับเทคโนโลยี AI ในทุกๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่ผู้คิดค้น สร้างต้นแบบ ผลิตจำหน่าย ไปจนถึงการซ่อมบำรุง มุ่งสู่การพัฒนาเป็น ”ศูนย์ AI Thailand” ภาคการศึกษาต้องเร่งเตรียมคนและร่วมมือกับทุกภาคส่วนผลักดันให้ประเทศไทยสร้างศูนย์กลางการให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI แบบครบวงจร โดยน่าจะเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา ศธภ.ภาค 13 เมืองสำคัญที่เป็นยุทธศาสตร์ในทุก ๆ ด้านโดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ยิ่งการส่งเสริมรวดเร็วเท่าไหร่ยิ่งดึงนักลงทุนจากทั่วโลก ด้วยปัจจัยทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีความพร้อม จากสถิติของศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรม สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) ได้จัดทำรายงานเผยแพร่ ภาวะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ประจำปี 2563 พบว่าไทยขาดดุลการค้าในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สูงถึง 165.22 ล้านบาท โดยขาดดุลการค้ามากขึ้น 46.37% เมื่อเทียบกับปี 2562 จากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการใช้ ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความต้องการความแม่นยำในการผลิต ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การขาดแคลนแรงงาน ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไปสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่ช้า และปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเป็นแรงส่งให้ความต้องการใช้หุ่นยนต์ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น “AI Thai ครบวงจร” การเตรียมคนมีทักษะเชี่ยวชาญจะนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดขาดดุลการค้า ของประเทศได้อย่างแน่นอนผมยังคาดหวังว่าแรงกระตุ้นภาคการศึกษาในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยหุ่นยนต์ AI จะพลิกโฉมการศึกษาไทย ให้เกิดขึ้นได้จากนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีที่เร่งผลักดันอย่างเข้มข้นพร้อม ๆ กับทีมงานคุณภาพและผมต้องขอบพระคุณข้อความประกอบภาพ Caption ที่ท่านรัฐมนตรี ทั้ง 3 ท่านได้ส่งมอบเพื่อสร้างสื่อนำไปสู่การสร้าง แรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียน นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งเป็นกำลังใจให้กับทีมงาน





สุดท้ายในฐานะศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ ผมหวังว่าจะมีโอกาสสร้างทีมปฏิบัติงานรองรับนโยบาย ที่เข้มแข็ง มีความพร้อมที่จะจัดการศึกษาอย่างเท่าเทียมในระดับภาค สู่ประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสู่สังคม ยกระดับคุณภาพเด็กไทย สร้างความร่วมมือให้เกิดเครือข่าย สนับสนุน “ศูนย์ AI Thailand” และหุ่นยนต์ AI จะเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาให้โลกได้เห็นว่า “เด็กไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น