วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564

"สามารถ"ยกหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับกรมศึกษาธิการ ร.ศ.120 เตือนสติ..คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน ปกป้องเอกราช ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง ให้อยู่คู่ประเทศ ไทยไปชั่วลูกสืบหลาน!!

 "สามารถ"ยกหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับกรมศึกษาธิการ ร.ศ.120 เตือนสติ..คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน ปกป้องเอกราช ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง ให้อยู่คู่ประเทศ ไทยไปชั่วลูกสืบหลาน!!



นาย สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ เฟสบุ๊คส่วนตัวชื่อ สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ว่า


วันที่7เม.ย.ในอดีตเป็นวันที่ครบรอบ254 ปีเสียกรุงครั้งที่ 2


"ผมอยากย้อนเวลาให้เห็นว่าพวกเราเคยมีราชธานีที่รุ่งเรืองกว่า 417 ปี ถึงกาลสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2310"



โดยเหตุการณ์จุดเปลี่ยนน่าจะมาช่วงหลังจากพระราชโอรสองค์แรก คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรฯ ผู้ต้องพระราชอาญาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว คราวต้องเวนราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ไม่โปรดพระราชโอรสองค์ที่ 2 คือ เจ้าฟ้าเอกทัศ จึงทรงข้ามไปพระราชทานพระราชบัลลังก์ให้พระราชโอรสองค์ที่ 3 คือ เจ้าฟ้าอุทุมพร ผู้มีพระปรีชาสามารถมากกว่าแทน 



ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เจ้าฟ้าอุทุมพรก็ราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เสวยราชย์ได้ไม่ถึง 3 เดือน เจ้าฟ้าเอกทัศก็ตั้งพระองค์เองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรนั้นทรงตัดสินพระทัยเลี่ยงไปผนวชเสียด้วยเหตุผลส่วนพระองค์ เจ้าฟ้าเอกทัศจึงได้ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา


นับตั้งแต่ พ.ศ.2301 สืบมา อันเป็นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศนั้น ได้มีหลักฐานบรรยายสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นอยู่หลายมุมมอง หลักฐานฝ่ายไทยสมัยหลังส่วนใหญ่อธิบายไว้ทำนองว่า ในรัชกาลนี้ ข้าราชการระส่ำระสาย บางคนลาออกจากราชการ และมีบาทหลวงฝรั่งเศสเขียนจดหมายเหตุว่า ในยามนั้น 


“...บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายในได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตาย เอาไฟเผาบ้านเรือน จะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น...” เป็นต้น 


ขณะที่หลักฐานอีกฝ่ายหนึ่งมีว่าไว้ถึงพระราชกิจของพระเจ้าเอกทัศที่ถูกมองข้าม และมิได้มองว่า พระเจ้าเอกทัศทรงมีความประพฤติย่ำแย่เช่นนั้นเลย แต่ว่า พระองค์ “ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก” เป็นต้น


ก่อนหน้านี้ อาณาจักรอยุธยาว่างเว้นการศึกกับพม่ามานานกว่า 150 ปีแล้ว และใน พ.ศ.2303 พระเจ้าอลองพญา กรีฑาทัพมาชิงเอากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หมายจะกำกัดอิทธิพลจากอยุธยา และทรงเห็นว่า อาณาจักรอยุธยามีความอ่อนแอ นับเป็นโอกาสอันดี ทว่ากองทัพพม่าก็มิอาจเอาชัยเหนือกรุงศรีอยุธยาได้ในครานั้น เพราะพระเจ้าอลองพญาสวรรคตกลางคัน กองทัพพม่าจึงต้องยกกลับไปเสียก่อน 


ฝ่ายอยุธยาได้โอกาสจึงทูตไปยั่วยุให้เมืองประเทศราชของพม่าแข็งเมือง พระเจ้ามังระ จึงมีบัญชาให้เนเมียวสีหบดี และมังมหานรธา ไปปราบเมืองประเทศราชที่แข็งเมืองให้ราบสิ้น 


ทัพเนเมียวสีหบดี เข้าตีในแคว้นล้านช้าง เชียงตุง เชียงใหม่ ๆด้รับชัยชนะ ได้กำลังพลจำนวน 20,000 คน ทัพมังมหานรธา เข้าตีที่ทวาย ทัพพระเจ้ามังระ เข้าตีที่เมืองมณีปุระ และยกทัพไปรวมกับทัพมังมหานรธา รวมกันได้กำลังพลจำนวน 30,000 คน แล้วจึงประกาศสงครามกับกรุงศรีอยุธยา เพราะต้องการทำลายอิทธิอยุธยาให้หมดไป 


โดยพระเจ้ามังระ ประกาศว่า “...หัวเมืองใดยอมเข้าเป็นพวกแต่โดยดี ส่งคน ส่งเสบียงมา จะเว้นไว้ แต่หากหัวเมืองใดขัดขืน จะเผาให้สิ้น...”


ฝ่ายอยุธยาทราบข้าว พระเจ้าเอกทัศน์ ระดมทหารได้ 60,0000 คน โดยวางกำลังไว้ที่ กาญจนบุรี สุโขทัย พิษณุโลก และเตรียมกองทัพไว้ตั้งรับที่กรุงศรีอยุธยา 


ฝ่ายพม่าเปิดฉากโจมตี ทัพเนเมียวสีหบดี เริ่มตีจากเมืองลำปาง ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก จนถึงกรุงศรีอยุธยา


ทัพมังมหานรธา แบ่งการโจมตีออกเป็น 3 ทาง 


ทางที่ 1 เมาะตะมะ สุพรรณบุรี

ทางที่ 2 มะริด ตะนาวศรี ชุมพร เพชรบุรี นนทบุรี ศรีอยุธยา 

ทางที่ 3 ทวาย กาญจนบุรี 


และทั้ง 3 ทัพมารวมกันที่กรุงศรีอยุธยา โดยมีการต้านทานที่เล็กน้อย เพราะหัวเมืองต่าง ๆ เกรงกลัวกองทัพของพม่า พระเจ้าเอกทัศน์ จึงให้สร้างค่ายล้อมเมืองขึ้น 8 แห่ง 


พระเจ้าเอกทัศโปรดให้รวบรวมประชาชนและเสบียงเข้ามาไว้ในพระนคร และเตรียมการป้องกันไว้อย่างแน่นหนา โดยรอคอยฤดูน้ำหลากและอาศัยยุทธวิธีคอยตีซ้ำเมื่อกองทัพพม่าถอนกำลังออกไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอยุธยาก็มิได้ตั้งรับอยู่ในพระนครแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังส่งกำลังออกไปโจมตีค่ายเนเมียวสีหบดีและค่ายมังมหานรธาอยู่หลายครั้ง ส่วนทางด้านกองทัพพม่ากระจายกำลังออกล้อมกรุงเอาไว้ทุกด้าน พยายามเข้าประชิดกำแพงพระนครหลายครั้งก็ไม่ประสบผล จึงยังมีราษฎรหลบหนีภัยพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงอยู่เสมอ สำหรับเสบียงอาหารในกรุงก็ยังคงบริบูรณ์ดีอยู่ ดังปรากฏในจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสว่า “...เมื่อพม่าเข้าตั้งประชิดพระนครและล้อมกรุงอย่างกวดขันขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2309 นั้น เสบียงอาหารในกรุงก็ยังบริบูรณ์ดี มีแต่ขอทานเท่านั้นที่อดตาย...”


ในวันที่ 14 กันยายน 2309 พม่าได้รุกคืบไปอยู่ใกล้กำแพงเมืองสร้างค่าย 27 ค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยา 


จนถึงวันที่ 7 เมษายน 2310 เวลาประมาณบ่ายสามโมง พม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เวลา 2 ทุ่ม แม่ทัพพม่ายิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารเข้าพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดปีนพาดเข้ามาได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน ทหารอยุธยาที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็สามารถเข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง


หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับกรมศึกษาธิการ ร.ศ.120 ว่า พม่าหักเข้ากรุงได้แล้ว ก็เริ่มเผาเมืองทั้งเมืองใน "เพลาเที่ยงคืน ประมาณสองยามเศษ" เพลิงไหม้ไม่เลือกตั้งแต่เหย้าเรือนราษฎรไปจนถึงปราสาทราชมนเทียร เพลิงผลาญพระนครเป็นเวลาถึงสิบห้าวัน โดยหนังสือพระราชพงศาวดารฯ ดังกล่าว บันทึกว่า “...เพลาเที่ยงคืน ประมาณสองยามเศษ เพลิงเกิดในกรุงเทพมหานคร ไหม้แต่ท่าทราย ตลอดถนนหลวง ไปจนถึงวัดฉัททันต์ แสงเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ ครั้นได้ทัศนาการเห็นก็สังเวชสลดใจ...” 


นอกจากการล้างผลาญบ้านเรือนแล้ว ทัพพม่ายังปล้นชิงทรัพย์สินในพระนคร บังคับราษฎรทั้งภิกษุทั้งฆราวาสให้แจ้งที่อยู่ทรัพย์สิน ผู้ขัดขืนต้องเผชิญโทษทัณฑ์ต่าง ๆ แล้วให้จับผู้คน รวมถึงพระราชวงศ์ ข้าราชการ สมณะ ไปคุมขังไว้ โดยพระสงฆ์ให้กักไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนฆราวาสให้ไว้ตามค่ายของแม่ทัพนายกองทั้งหลาย คำนวณแล้ว ปรากฏว่า เชื้อพระวงศ์ถูกกวาดต้อนไปกว่า 2,000 พระองค์ รวมจำนวนผู้ถูกพม่ากวาดต้อนไปนั้นมากกว่า 30,000 คน


ในจำนวนเชลยนี้มีสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรรวมอยู่ด้วย พระองค์ได้เป็นผู้ให้ปากคำเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาแก่พม่า ซึ่งได้ชื่อว่า "คำให้การขุนหลวงหาวัด" นอกจากพระเจ้าอุทุมพรแล้ว ยังมีนายขนมต้ม เชลยไทยที่สร้างชื่อเสียงในทางหมัดมวยในเวลาต่อมา


เผาทำลายพระนครแล้ว ทัพพม่าได้พำนักอยู่ ณ ที่นั้นจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2310 ก่อนยกกลับประเทศตน โดยประมวลเอาทรัพย์สินและเชลยศึกไปด้วย เนเมียวสีหบดีได้แต่งตั้งให้สุกี้เป็นนายทัพ คุมพล 3,000 คน รั้งทัพอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น คอยกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินตามกลับไปภายหลัง อย่างไรก็ดี หลักฐานพม่ากล่าวตรงกันข้ามกับหลักฐานไทย คือ ทหารพม่ามิได้ฆ่าฟันผู้คนมากมาย เพียงแต่เผาเมือง ริบสมบัติ และจับพระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชสำนัก และพลเมืองกลับไปด้วยเท่านั้น


จากตอนนั้นมาถึงตอนนี้เปลี่ยนจากพม่า มาเป็นคนไทยหัวใจต่างชาติจะมาทำให้ประเทศไทยเสียกรุงเสียเอกราชอีก


ดังนั้นคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน ปกป้องเอกราช ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง ให้อยู่คู่ประเทศไทยไปชั่วลูกสืบหลานตลอดไป!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น