สภาเอสเอ็มอี ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย 30 องค์กร มุ่งสร้างโมเดล SMEs Smart Province ระดับจังหวัด แก้ปัญหา SMEs แบบครบวงจร
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่สโมสรทหารบก นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) พร้อมคณะกรรมการและที่ปรึกษาสภาเอสเอ็มอี จัดประชุมภาคีเครือข่ายสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ครั้งที่ 1/2563 เพื่อแถลงผลการดำเนินการของสภาเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา
โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสภาเอสเอ็มอีได้ทำข้อเสนอไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ได้นำร่องโครงการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานระดับจังหวัดผ่านโมเดล SMEs Smart Province ที่ได้นำร่องไปแล้วใน 3 จังหวัด พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมการประชุม ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธ.พ.ว.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน
นายไชยวัฒน์ เปิดเผยว่า ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สภาเอสเอ็มอีได้สะท้อนปัญหาและเสนอแนะแนวทางที่จะช่วยเหลือ SMEs ไปยังภาครัฐหลายครั้งหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อมวลชนสำนักต่างๆ, คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการ การจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ รัฐสภา, ธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ
เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รัฐสภา, คณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษา ติดตามตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท คณะที่ 2 รัฐสภา, คณะอนุกรรมการวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสาขา ครั้งที่ 1/2563 ภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการสัมมนาต่างๆ โดยเสนอประเด็น การพักชำระหนี้ในช่วงที่ไม่มีรายได้ การขยายวงเงินสินเชื่อโดยไม่ต้องเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกัน การผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ให้กับ SMEs ในช่วงโควิด-19
หามาตรการช่วยเหลือกลุ่มที่เป็น NPL และกลุ่มที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว การพิจารณาหากลไกใหม่ๆ ในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินให้กับ SMEs ที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 และที่สำคัญ คือ การนำเงินประกันสังคมที่ผู้ประกอบการและแรงงานจ่ายสมทบเข้าไปทุกๆ เดือนออกมาช่วยเหลือในช่วงวิกฤตินี้
ด้านนายศุภชัย แก้วศิริ ประธานโครงการ SMEs Smart Province ให้ข้อมูล โมเดล SMEs Smart Province มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือของทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ระดับจังหวัด ในการแก้ไขปัญหาที่เป็น Pain Point ของ SMEs
ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การตลาด และการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม มาผนวกเข้ากับวัฒนธรรมในแต่ละจังหวัด ในช่วงที่ผ่านมาสภาเอสเอ็มอีได้ร่วมกับประธานจังหวัดนำร่องไปแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สุรินทร์ และพระนครศรีอยุธยา ตามบริบทของแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เกิดจากการรวมตัวกันของภาคีเครือข่ายซึ่งประกอบไปด้วย สมาคม มูลนิธิ ชมรม และกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ปี 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ SMEs ในการสะท้อนปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของ SMEs รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยยื่นร่างพระราชบัญญัติสภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทยผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น