ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. และดร.พะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนและติดตามภารกิจของ กศน. สช.ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ณ กศน.อำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยมีนายก่อพงษ์ โกมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายบุญทรง จิโนเป็ง ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดลำปาง นางนงนุช ถาวรวงศ์ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภองาว ตลอดจนครูและบุคลากร ให้การต้อนรับและบุคลากร ให้การต้อนรับและเข้าร่วมในโอกาสดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า" ขอชื่นชมท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและผู้บริหารทุกท่าน ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในด้านการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ได้เป็นอย่างดี นับเป็นความโชคดีของชาวลำปาง ที่มีพ่อเมืองที่มีความสามารถและมีวิสัยทัศน์ดีเยี่ยม ในการวางแผนรับมือกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในทุกๆ ด้าน จนขณะนี้จังหวัดลำปางมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ ด้วยการรวมพลังความสามัคคีและบูรณาการ การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน รวมถึงการวางแผนเปิดภาคเรียนตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขครอบคลุมทั้งจังหวัด”
ดร.กนกวรรณ รมช.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า“ขอขอบคุณผู้บริหาร บุคลากรของ กศน.อำเภองาว ตลอดจนทุกภาคส่วนของ อำเภองาว จังหวัดลำปางที่ได้ช่วยพัฒนาการศึกษา สร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการมีจิตสาธารณะเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนร่วมกับ กศน.อำเภองาว จนมีผลงานเชิงประจักษ์ สมควรแก่การยกย่อง ชื่นชมในหลายๆโครงการของ "งาวโมเดล" ซึ่งถือว่าเป็น ต้นแบบเชิงอัตลักษณ์ของ “จิตสาธารณะ” ที่เป็นแบบอย่างที่ดีงามและนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆต่อไป รวมถึงผลการดำเนินงานตามนโยบาย ของสำนักงาน กศน.จังหวัดลำปาง พบว่ามีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาครู กศน.และบุคลากร ให้สามารถปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีรู้ เพื่อจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา การจัดอบรมครูให้มีทักษะในการผลิตสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาต่อเนื่อง ด้านหลักสูตรอาชีพ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมเติมเต็ม เพื่ออำนวยความสะดวก เข้าถึงข้อมูล สื่อ เอกสารต่าง ๆ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในทุกที่ ทุกเวลา รวดเร็ว ทันสมัย ตอบโจทย์โลกการศึกษายุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี และถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของการพัฒนาครู ให้มีทักษะด้านดิจิทัล นำพาการเรียนรู้ไปให้ถึงมือประชาชนด้วยโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แก่คนทุกช่วงวัยให้สอดรับกับสภาวการณ์และพัฒนาสู่เป้าหมายของการศึกษาตลอดชีวิตอย่างแท้จริง " รมช.ศธ. กล่าว
ในโอกาสนี้ รมช.ศธ.ได้มอบเกียรติบัตร และเชิญบุคลากรสำนักงาน กศน.อำเภองาว จังหวัดลำปาง จำนวน 8 ท่าน ร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และยกย่องเชิดชู ในการทำความดี และยกเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม ในการที่มีจิตสาธารณะช่วยกันดับไฟป่าระหว่างกำลังเดินทางกลับจากการปฎิบัติหน้าที่ ทั้งที่อยู่ในเครื่องแบบข้าราชการ ด้วยสองมือเปล่า พร้อมประสานเทศบาลท้องที่ให้มาดำเนินการ ถือเป็นบุคลากรตัวอย่างในความมีน้ำใจ ไม่ดูดายหรือเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนมีสติช่วยบรรเทาเหตุการณ์ไม่ให้ส่งผลเสียบานปลาย
นางนงนุช ถาวรวงศ์ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภองาว กล่าวว่า “ ขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติ และมอบเกียรติบัตรให้คณะครูในวันนี้ ซึ่งทำให้ครูและบุคลากรทุกคนมีความซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก ครูทั้ง 8 ท่าน ที่ได้รับเกียรติในวันนี้ โดยถือว่าเป็นผู้แทนของทุกคน ในการเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งต่อไปยังพี่น้องครู กศน.เราอีกหลายท่านที่เป็นแนวร่วมในการสร้างจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาชุมชนผ่าน”งาวโมเดล”กับเครือข่ายในหลายๆโครงการ เนื่องจากอำเภองาวมีสภาพพื้นที่ราบสลับภูเขาเป็นที่ราบร้อยละ 22 ของพื้นที่อำเภอทั้งหมด เป็นภูเขาร้อยละ 73 ของพื้นที่อำเภอ เป็นพื้นน้ำร้อยละ 5 ของพื้นที่ ในฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรและอื่นๆ กศน.อำเภองาว ได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้น้ำในฤดูแล้ง จึงมีแนวคิดในการสร้างกิจกรรมเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็น “งาวโมเดล” ขึ้น ในโครงการ กศน.รักษ์โลก ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายต่างๆ โดยให้ครูในพื้นที่ร่วมเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมของเครือข่ายชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กิจกรรมสร้างฝาย กิจกรรมปลูกป่า ทำแนวกันไฟ และดับไฟป่า เพื่อปลูกฝังให้ทุกคนมีความผูกพันในฐานะเจ้าของพื้นที่ในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน จากน้ำพักน้ำแรงอย่างแท้จริง” ผอ. กศน.อำเภองาว กล่าว
สำหรับผลงานด้านจิตสาธารณะและการทำงานกับภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อให้มีจิตอาสาสำหรับนักศึกษา กศน.อำเภองาว ที่ได้สอดแทรกกิจกรรมต่างๆ ผ่านกระบวนการทางลูกเสือ และยุวกาชาด โดยการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวจะมีผู้บริหารและครูทุกคน พาคิด นำทำในกิจกรรมทุกครั้ง เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่ครูและนักศึกษามีจิตสาธารณะเป็นประจำทุกปี ทำให้กิจกรรม ของกศน.อำเภองาว เกิดเป็นผลงานเชิงประจักษ์จนได้รับการยกย่องและมีโอกาสได้รับการคัดเลือกเพื่อรับทุนดำเนินโครงการ 40,000 บาท จากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อ ปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โดยได้รับรางวัลโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ชุมชนดีเด่น และอาจารย์ที่ปรึกษา ดีเด่น ในโครงการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าด้วยฝายชะลอน้ำ น้อมถวายแม่ของแผ่นดิน” ภายใต้โครงการจิตสำนึกรักษ์เมืองไทย ปีที่ 10 ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ ได้จัดทำโครงการโดยให้ครู ศศช. เข้ารับการอบรมฝึกทักษะการดับไฟป่าที่หน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดขึ้น และนำไปขยายผลการอบรมให้ความรู้แก่คนในชุมชนพื้นที่สูงและจัดตั้งศูนย์ประสานงานดับไฟป่าที่ ศศช. (ศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”) แต่ละแห่ง เพื่อสร้างจิตสำนึกแก่คนในชุมชนให้เกิดความรักหวงแหน
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีครู ศศช. ร่วมดับไฟป่ากับกลุ่มจิตอาสาดับไฟป่าของอำเภองาวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ด้วยนโยบายภายใต้การนำของผอ.ครูและนักศึกษา กศน. อำเภองาว ที่ได้ร่วมกับชุมชน ในการทำกิจกรรมสร้างฝาย ปลูกป่า ทำแนวกันไฟ ดับไฟป่า ถือได้ว่าเป็นการสร้างและปลูกฝังให้คนในชุมชน เกิดความหวงแหนและสำนึกรักบ้านเกิด อันเป็นจุดเริ่มต้นจากชุมชนเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่นี้ เพื่อไปสู่การพัฒนาและเป็นแบบอย่างที่ดีงามในการสร้างสังคมที่ต่อเนื่องยั่งยืนตลอดไป!!
ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : ปรานี บุญยรัตน์ ณัฐวุฒิ วากะดวน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น