วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2563
สัตว์ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
จากการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 จนกระทั่งมีการประกาศการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีข้อห้ามข้อกำหนดมากมาย ซึ่งอาจเป็นผลที่ดีต่อการควบคุมสถานการณ์การป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เช่น การหยุดงาน ว่างงาน การกลับคืนสู่ภูมิลำเนาของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งผลกระทบที่ตามมานั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นกับสัตว์ด้วยเช่นกัน
เรื่องดังกล่าวนี้ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เห็นว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวสมาคมฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีความเป็นห่วงมาก โดยสมาคมฯได้รับข้อร้องเรียนจำนวนมาก เช่น สุนัขและแมวถูกกักขังไว้ในบ้านขาดผู้ดูแล การนำสุนัขและแมวไปทิ้งในวัดหรือที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่สถานสงเคราะห์สัตว์ บ้านที่เมตตารับเลี้ยงสุนัขและแมวไว้ แต่ก่อนเคยมีผู้บริจาคอาหาร วันนี้ผู้บริจาคลดลงเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การช่วยเหลือสงเคราะห์สัตว์กรณีที่เจ็บป่วยเร่งด่วนก็ขาดผู้อุปถัมภ์ดูแล ช้างบ้าน จำนวนประมาณ 4,000 เชือก ก็มีอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการ ผู้เพาะเลี้ยงและผู้ค้าสัตว์ก็อาจจะดูแลจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างไม่เหมาะสม หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งภาครัฐและเอกชนก็ปฏิบัติงานด้วยความยากลำบาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมาก
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นนั้น ต้องเริ่มต้นจากเจ้าของสัตว์นั้น ควรดูแลสัตว์ของตนเองอย่างใกล้ชิดด้วยความเมตตาและรับผิดชอบ ซึ่งถ้ามีปัญหาเร่งด่วนต้องย้ายที่อยู่อาศัย ไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงของตนไปด้วยได้ ก็ควรฝากสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นให้ผู้อื่นดูแลแทน หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขต ในการช่วยเหลือดูแล การปล่อยทิ้งสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควรนั้น นอกจากเป็นการทำร้ายสัตว์แล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการกำหนดนโยบายและมาตรการ รวมทั้งแนวทาง การแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน เช่น ด้านการให้การช่วยเหลือสัตว์ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน โดยเฉพาะสัตว์ที่โดนกักขังขาดผู้ดูแล ทำให้ขาดน้ำ ขาดอาหาร ซึ่งอาจทำให้สัตว์นั้นเสียชีวิตได้ หรือสถานสงเคราะห์สัตว์ บ้านที่รับเลี้ยงสัตว์จำนวนมากที่ ขาดผู้อุปถัมภ์ดูแลในการบริจาคอาหารนั้น ควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ที่พอมีกำลังควรมีส่วนร่วมในการจัดระดมทรัพยากร อาหาร เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการให้การช่วยเหลือดูแลสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้
ปัญหาการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงหรือทางอ้อมไม่มากก็น้อย ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรร่วมมือในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ด้วยการบูรณาการทรัพยากรในทุกด้าน พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน คือการปลูกจิตสำนึกในการดูแลเลี้ยงดูสัตว์ให้กับผู้เลี้ยง ให้เลี้ยงสัตว์ด้วยความรับผิดชอบ รักไม่ปล่อย ไม่ทอดทิ้งกัน ซึ่งจะทำให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น