วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

อันตรายจากหมัดแมว



อันตรายจากหมัดแมว
  จากกรณีกระแสข่าว หมัดแมวได้กัดจนมีผู้เสียชีวิต สร้างความตื่นตระหนกตกใจ แก่ผู้เลี้ยงแมว เป็นจำนวนมาก สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) มีความห่วงใยกับเรื่องเกิดขึ้น เพราะความเข้าใจที่ผิดอาจจะนำมาสู่การละทิ้งสัตว์เป็นจำนวนมาก ด้านนายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ  กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยเรื่องดังกล่าวว่า หมัด นั้น เป็นเพียงแมลงตัวเล็ก ๆ แต่เป็นพาหะของโรคที่น่ากลัวในอดีต คือ กาฬโรค ซึ่งมีหมัดหนูเป็นตัวนำ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งสัตว์ที่มีขนาดเล็กเหล่านี้ นอกจากหมัดแล้วยังมี เห็บ เหา ไร สัตว์ดังกล่าวตัวเล็กพริกขี้หนู แต่สามารถก่อกวนให้เกิดโรค หรือความเครียดในสัตว์อื่นได้อย่างมหาศาล


หมัดแมว เป็นปรสิตภายนอกที่ไม่มีปีก ปกติอาศัยอยู่บนตัวแมว ซึ่งบางครั้งก็สลับไปอยู่บนตัวสุนัขได้เช่นเดี่ยวกับหมัดสุนัขก็สลับมาอยู่บนตัวแมวได้ เป็นสัตว์รูปร่างแบนข้าง ตัวแบนข้างจากซ้ายไปขวา ต่างจากเหาที่ตัวแบนจากบนลงล่าง ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ตัวมีสีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ สามารถกระโดดตัวลอยได้เมื่อถูกรบกวน การกระโดดของหมัดสูงจากพื้น 10 - 20 ซ.ม. และระยะไกลในแนวราบ 20 -25 ซ.ม. และสามารถกระโดดได้หลายครั้ง การกระโดดของหมัดจะใช้ขาคู่ที่สาม ซึ่งมีลักษณะยาวกว่าขา 2 คู่แรกมาก ปกติหมัดเป็นปรสิตภายนอกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ปีก มีความสามารถในการอยู่อาศัยบนตัวสัตว์ที่ให้อยู่อาศัย (Host) ได้หลายชนิด เช่น หมัดแมว ( Ctenocephalides felis ) สามมารถอยู่อาศัยได้บนตัวสุนัข หรือหนูได้  ส่วนเหาต้องการตัวที่ให้อยู่อาศัยได้เฉพาะชนิด เช่น เหาช้าง ( Haematomyzus elephantis ) ต้องอาศัยดูดเลือดบนตัวช้างเท่านั้น ดังนั้นปากของเหาช้างจะมีลักษณะยาวปลายแหลม เพื่อเจาะฝังลงไปในขุมขนช้างจนแน่น ป้องกันไม่ให้ตัวมันเองหลุดออกจากตัวช้าง


ปกติหมัดแมวเวลาดูดเลือด ซึ่งเป็นอาหารหลักของมัน มันจะใช้ปากเจาะผิวหนังของแมว เมื่อผิวหนังเป็นรูหมัดจะปล่อยน้ำลาย ซึ่งเป็นหยดของเหลวใส  มีฤทธิ์เป็นสารต่อต้านการแข็งตัวของเลือด ( Anticoagulant ) และสารอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในตัวแมว หรือสัตว์ที่ให้หมัดแมวอยู่อาศัย หมัดจะใช้เวลาในการดูดกินเลือด 2 – 10 นาที ตัวเมียจะดูดกินเลือดเป็น 2 เท่าของตัวผู้ ทำให้ท้องตัวเมียเป่งสีแดงหรือสีชมพูเห็นได้ชัด  ซึ่งขณะดูดเลือดจะก่อให้เกิดอาการเจ็บและคัน ทำให้แมวเกิดอาการรำคาญ แมวจะใช้ปากกัด หรือขาตะกุยบริเวณที่มีอาการดังกล่าว จนอาจทำให้ขนร่วง ผิวหนังอักแสบเป็นผื่นแดง  มีตุ่มหนอง  ส่งกลิ่นเหม็น  อาจมีการติดเชื้อ หรือเป็นขี้เรื้อนแมว  อาการของโรคดังกล่าวประกอบกับอาการโลหิตจางจากการถูกหมัดแมวดูดเลือด ถ้ารักษาไม่ทันแมวดังกล่าวอาจเสียชีวิตได้


หมัดแมวถ้ามีเป็นจำนวนมาก และเจ้าของแมวไม่เอาใจใส่ต่อสุขภาพสัตว์ หมัดแมวดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความรำคาญต่อเจ้าของสัตว์ หรือประชาชนใกล้เคียง  เช่น  ถูกหมัดแมวกัด  เกิดความเดือดร้อนรำคาญจากฝูงหมัด  บางคนมีอาการแพ้หากถูกหมัดจำนวนมากกัด จะก่อให้เกิดตุ่มหรือผื่นแดง  ถ้าใช้มือเกาก็อาจจะเกิดการติดเชื้อได้  ดังนั้น  ผู้ที่มีอาการแพ้ควรพาไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อการรักษาที่ถูกวิธี



สำหรับการระวัง รักษา หรือ ป้องกันหมัดแมวที่จะมารบกวน สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงต่างๆ ควรมีข้อปฏิบัติดังนี้
1. กรณีเกิดการติดเชื้อและเกิดบาดแผลกับแมว สุนัข สัตว์เลี้ยง จำเป็นต้องดำเนินการรักษาโดยเฉพาะการใช้ยา Corticosteroids ซึ่งต้องอยู่ในการดูแลโดยสัตวแพทย์เท่านั้น
2. การกำจัดหมัด ไม่ว่าจะเป็นตัวโตเต็มวัย ไข่ หรือตัวอ่อนต้องทำโดยถูกวิธี มียาหรือสารเคมีให้เลือกหลายอย่าง เช่น ยาฆ่าแมลงชนิดผง ยาสำหรับผสมน้ำฉีดหรือพ่น ยาผสมในแชมพูสำหรับอาบน้ำ ยาสำหรับหยดหรือฉีดบนลำตัวสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ต้องปรึกษาสัตวแพทย์ถึงยาที่ควรจะใช้ เพราะยาหรือสารเคมีแต่ละตัวจะมีพิษข้างเคียงโดยเฉพาะถ้าใช้กับแมว
3. สิ่งปูรองต่างๆ เพื่อให้สัตว์นอนควรซักด้วยผงซักฟอกที่มีฟอง หรือต้มในน้ำร้อนเดือด 5 – 10 นาที วิธีนี้จะกำจัดได้ทั้งตัวอ่อน ตัวแก่ และไข่ของหมัด
4. ภายในบ้านที่เลี้ยงสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ควรทำความสะอาดทุกวันโดยเฉพาะพื้นบ้าน เช่น การใช้น้ำมันก๊าดประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 5 ลิตร แล้วใช้ผ้าขี้ริ้วซักในส่วนผสมดังกล่าว ถูพื้นบ้านทุกวัน จะช่วยป้องกันและเป็นการไล่หมัดที่ซ่อนตัวอยู่ในร่อง หลืบ ออกไปจากบ้าน
5. การจับหมัดบนตัวสุนัขและแมว ไม่ควรนำมาบี้ให้ตาย ให้เตรียมส่วนผสมของน้ำและผงซักฟอกตีให้เป็นฟองแล้วจับหมัดใส่ลงไป ก็จะเป็นการกำจัดที่ถูกวิธี ทิ้งไว้ประมาณ 15 - 20 นาที  หมัดก็จะตายหมดก็นำน้ำดังกล่าวไปเททิ้งได้
6. ภายในตัวหมัดแมว หมัดสุนัข จะมีตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด ( Dipylidium caninum ) ไม่ควรบี้ตัวหมัดเพราะตัวอ่อนของพยาธิดังกล่าวอาจติดไปยังสัตว์อื่นได้
สุดท้ายนี้ นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ  อยากฝากว่า ในประสบการณ์ที่ทำงานมาเกือบ 50 ปี ยังไม่เคยได้ยินว่ามนุษย์ตายเนื่องจากหมัดแมว และขอให้พึงระลึกอยู่เสมอว่าถ้าอยากเลี้ยงสัตว์ ก็ควรเอาใจใส่สุขภาพสัตว์ ให้สัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์ ควรนำสัตว์ไปให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ปีละ 3 - 4 ครั้ง ทั้งคนและสัตว์ก็จะปลอดภัยจากโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น