วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562
การใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร จากกรณีชาวบ้านพบชายสูงอายุกระทำอนาจารวัวเพศเมีย อายุประมาณ 2 ปี ที่หากินอยู่บริเวณชายป่า โดยชายสูงอายุให้การด้วยใบหน้าที่อมยิ้มโดยอ้างว่า ตนยังไม่ได้ลงมือทำอนาจาร
การใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร
จากกรณีชาวบ้านพบชายสูงอายุกระทำอนาจารวัวเพศเมีย อายุประมาณ 2 ปี ที่หากินอยู่บริเวณชายป่า โดยชายสูงอายุให้การด้วยใบหน้าที่อมยิ้มโดยอ้างว่า ตนยังไม่ได้ลงมือทำอนาจารหรือข่มขืนวัว เนื่องจากเจ้าของมาพบเสียก่อน แต่ยอมรับว่าเคยข่มขืนวัวตัวนี้มาแล้ว 2 ครั้ง เพราะทำตามเพื่อนอีกคน ที่เคยข่มขืนวัวมาก่อน จึงนึกสนุกอย่างลองทำบ้าง แต่ครั้งนี้ยังไม่เสร็จเพราะวัวดิ้นและเจ้าของตามมาพบเสียก่อนนั้น
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้กำหนดนิยามการทารุณกรรมสัตว์ ตามมาตรา 3 ว่า การทารุณกรรม หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือ อาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุสัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ
ดังนั้นจากนิยามดังกล่าว จึงถือว่า การใช้สัตว์เพื่อประกอบกามกิจถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาพฤติการณ์แห่งกรณี ๆ ตามประจักษ์พยาน หลักฐานและข้อเท็จจริงประกอบเจตนาของผู้กระทำด้วย
สำหรับพฤติกรรมนอกจากการใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ที่เข้าข่ายลักษณะการทารุณกรรมสัตว์อันไม่สมควรแล้วยังมีกรณีตัวอย่างอื่น ๆ ตามคำนิยามการทารุณกรรมสัตว์ ในมาตรา 3 ประกอบมาตรา 20 และมาตรา 31 ที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาตัดสินและวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวไว้ เช่น การใช้มีดขว้างใส่ใบหน้าสุนัข ศาลให้จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี การใช้ยาพิษฆ่าสุนัข ศาลตัดสินในความผิดทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษกระทงละ 6,000 บาท สองกระทง รวมปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกเป็นเวลา 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพและจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ส่วนโทษปรับลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 6,000 บาท กรณีการฆ่าสุนัขและถ่ายคลิปวิดีโอออกเผยแพร่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ศาลพิพากษาจำเลยที่ 1 ผู้โพสต์คลิปฆ่าโหดสุนัข ในเฟชบุ๊ค จำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้ฆ่าสุนัข ให้จำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท โดยไม่รอการลงโทษ
กรณีการฆ่าและชำแหละสุนัขเพื่อจำหน่ายจำนวน 14 ตัว ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี กรณีการโยนสุนัขลงจากที่สูงจนตาย ศาลพิพากษาตัดสิน ในความผิดทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานกระทำให้เสียทรัพย์ลงโทษจำคุก 4 เดือน คำให้การเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน แต่พฤติกรรมของจำเลย ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานและเจ็บปวดจนตาย และทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ ไม่มีเหตุให้ลดโทษให้และไม่รอการลงโทษ กรณีการใช้ปืนยิงสุนัข ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต ให้คำคุก 8 เดือน ปรับ 4,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนฯ จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท ฐานกระทำทารุณสัตว์ฯ จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานพกพาอาวุธปืน จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท ฐานการกระทำการทารุณสัตว์ จำคุก 3 เดือน ปรับ 2,500 บาท รวมโทษจำคุกเป็นเวลา 14 เดือน ปรับ 7,500 บาท ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องรับโทษมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี พร้อมให้ควบคุมความประพฤติ เป็นเวลา 1 ปี ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 4 ครั้ง และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ 12 ชั่วโมง กรณีการใช้อาวุธมีดและเหล็กทำร้ายสุนัข ศาลพิพากษาให้จำคุก 4 เดือนแต่จำเลยรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 เดือน แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอย่างอุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย ศาลจึงไม่รอการลงโทษ แต่การกระทำนั้นเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบที่บุตรสาวเคยถูกสุนัขกัด ศาลจึงเปลี่ยนจากโทษจำคุกให้เป็นกักขังแทน และจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษา กรณีการฆ่าแมวที่รับมาอุปการะ จำนวน 9 ตัว ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์
พ.ศ.2557 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 381 ให้ลงโทษบทหนักสุด ให้จำคุก 9 กระทง กระทงละ 4 เดือน รวมจำคุก 36 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 9 กระทงๆ ละ 2 เดือน โดยรวมจำคุก 18 เดือน แต่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้โทษจำคุกมาก่อน จึงไม่มีเหตุแห่งการลงโทษ คดีนี้จำเลยได้ยื่นต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
กฎหมายจึงเป็นเรื่องของหลักการ ที่ทุกคนควรต้องทราบและต้องถือปฏิบัติอย่างเสมอภาพเท่าเทียมกัน สำหรับพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นั้นเป็นกฎหมายและเครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรม ในการต่อสู้กับเจตนาร้ายที่คนมีต่อสัตว์เท่านั้น กรณีตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก็จะเป็นอุทาหรณ์และบรรทัดฐานทางสังคม ในการกระทำต่อสัตว์ที่ขาดความเมตตาและความรับผิดชอบทั้งต่อตัวสัตว์เองและผู้อื่นอีกด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น