วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ร้องศาลปกครอง-รมต. จัดการเจ้าหน้าที่รัฐ ทำ IFEC พัง



ผู้ถือหุ้นร้องศาลปกครองและรมต.พาณิชย์ เร่งจัดการกับหน่วยงานรัฐที่ตัดสินใจผิดพลาด กระทำส่อประพฤติโดยมิชอบ ส่งผล IFEC ส่อล้มละลาย และอาจถูกไล่ออกจาก SET

วันที่ 15 ก.ค. ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ผู้ถือหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC มอบหมายทนายความยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง และยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการส่อการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


นายวิชัย ระบุในหนังสือร้องเรียนว่า สืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งกรรมการของบริษัท IFEC ช่วงที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ตั้งแต่การตัดสิทธิ์ผู้ถือหุ้นและการใช้ตราประทับที่มีปัญหา แต่ที่สำคัญที่สุดคือการทำผิดกฎหมาย และผิดข้อบังคับของบริษัทฯ กรณีไม่มีการแต่งตั้งประธานในที่ประชุม ตลอดจนวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการก็ไม่เป็นไปตามมาตรา 83 ซึ่งได้เคยมีการทักท้วงนายทะเบียนพาณิชย์ไปแล้ว โดยครั้งแรกนายทะเบียนฯได้วินิจฉัยแล้วมีความเห็นไม่รับจดทะเบียนรายชื่อกรรมการชุดใหม่ไปแล้ว  แต่ภายหลังเพียงไม่กี่วันก็กลับคำวินิจฉัย โดยอ้างเอกสารจากคนบางกลุ่มประกอบ ซึ่งโดยแท้จริงปรากฏว่าเอกสารฉบับดังกล่าวที่นำมากล่าวอ้างมีปัญหา เพราะมีการอ้างถึงการมอบฉันทะให้กรรมการอิสระเข้าประชุมแทน แต่เวลาต่อมากรรมการอิสระคนดังกล่าวที่ถูกอ้างถึงทราบเรื่องจึงส่งหนังสือถึงนายทะเบียนฯปฏิเสธว่าตัวเองไม่เคยรับมอบฉันทะดังกล่าว อีกทั้งนายทะเบียนฯก็ไม่เคยเรียกตัวกรรมการคนดังกล่าวไปสอบถามทางกรรมการคนดังกล่าวจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรายชื่อกรรมการ แต่นายทะเบียนฯกลับเพิกเฉย ซึ่งการที่นายทะเบียนฯเร่งร้อนกลับคำให้การดังกล่าว ทำให้กลุ่มบุคคลที่นำเอกสารมีปัญหามากล่าวอ้าง ได้เข้าเป็นกรรมการบริษัทฯและต่อมาก็เร่งร้อนยื่นคำร้องขอถอนคดีที่กลุ่มตัวเองถูกบริษัทฯฟ้องร้อง ในภายหลังเมื่อศาลฯรับทราบความจริงจึงมีคำสั่งให้ไตร่สวนเรื่องดังกล่าว 


นอกจากนั้น กลุ่มบุคคลดังกล่าวยังมุ่งเน้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบริษัทฯ อันอาจจะนำมาสู่การยักย้ายถ่ายเททรัพย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเคยกระทำผิดพลาดมาครั้งหนึ่งแล้ว สร้างความเสียหายแก่บริษัทฯเกือบ 100 ล้านบาท ประกอบกับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 83 นำมาสู่ปัญหาเรื่องกรรมการในเวลาต่อมา เนื่องจากอยู่ในวาระนานกว่าปกติ ซึ่งทำให้เป็นการขัดต่อข้อบังคับต่างๆของบริษัทฯ
นายวิชัย ระบุอีกว่า ขณะนี้กรรมการกลุ่มดังกล่าวยังไม่ยอมทำการเปิดประชุมสามัญประจำปีของบริษัทฯเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี ส่งผลให้บริษัทฯไม่สามารถกระทำการปิดบัญชีและเพื่อให้ผู้สอบบัญชีฯรับรองงบการเงินให้ทันตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด อีกทั้งยังทำผิดกฎหมายด้วยการนำหุ้นของบริษัทย่อยที่เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีอายัดไว้กลับมาใช้อีก จึงเห็นว่าการกระทำทั้งหมดของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้บริษัทฯเกิดปัญหา และต้องการร้องเรียนเพื่อให้เร่งแก้ปัญหาทุกอย่างให้ถูกต้องและทันการณ์ ก่อนที่บริษัทฯจะล้มละลายและต้องถูกขับออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯในที่สุด. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น