วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เสริมสร้างศักยภาพทุกช่วงวัย ให้คุณใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เต็มพลัง กับ Power of Generation : Total Care



โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ และโรงพยาบาลวัฒโนสถ ผนึกกำลัง จัดแคมเปญ Power of Generation : Total Care เสริมสร้างศักยภาพทุกช่วงวัย ให้คุณใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เต็มพลัง เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุมให้กับทุกไลฟ์สไตล์ ทุกช่วงวัย โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มช่วงวัย ได้แก่ กลุ่มวัยเด็ก (Power of Kids) กลุ่มผู้หญิง (Power of  Women) กลุ่มผู้ชาย (Power of Men)  และกลุ่มวัยผู้สูงอายุ (Power of Boomers) ซึ่งกลุ่มเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิด วัยรุ่นตอนต้น ไปจนถึงวัยรุ่นตอนโต จะมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งด้านร่างกาย การเคลื่อนไหว การสื่อสาร อารมณ์ และสังคม ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจคือสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ ผู้หญิงในแต่ละช่วงตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน วัยผู้ใหญ่ มีไลฟ์สไตล์และความต้องการที่แตกต่างกันส่งผลให้การดูแลสุขภาพต่างกัน ผู้หญิงควรดูแลตัวเองให้แข็งแรงในระยะยาวทั้งในช่วงก่อนและหลังตั้งครรภ์ อย่าให้อ้วน ควรตรวจสุขภาพโดยรวมอยู่เสมอ เพื่อจะได้ห่างไกลจากโรคหัวใจ หรือโรคมะเร็งในสตรี  ส่วนผู้ชายโดยส่วนใหญ่มีกิจกรรมหรือมีไลฟ์สไตล์ที่ออกแรงหรือใช้พลังมากกว่าผู้หญิง รวมทั้งอาจละเลยหรือลืมที่จะเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายในวัยรุ่น วัยทำงาน วัยผู้ใหญ่ ไม่ควรละเลยการดูแลป้องกันโรคในระยะยาว อาทิ ภาวะการนอนกรน โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง และสำหรับผู้หญิงที่อายุมากขึ้น อาจมีปัญหานอนไม่หลับ เหงื่อออก ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ช่องคลอดหลวม ขาดความมั่นใจ ไอ จาม ปัสสาวะเล็ด ผู้ชายเมื่ออายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงกับโรคต่างๆ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ภาวะความเสื่อมของดวงตา ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  ข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นความเสื่อมที่ยากจะหลีกเลี่ยง ดังนั้นทุกคนจึงควรให้ความสำคัญและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงไปนานๆ



ภายในงาน Power of Generation : Total Care ทางโรงพยาบาล เชิญแขกรับเชิญพิเศษ ครอบครัวเฟื่องอารมย์ นำโดย คุณน็อต วรฤทธิ์-แจน นพลักษณ์ และคุณแนน ชลิตา พร้อมด้วยคุณแม่ญาภรณ์ เฟื่องอารมย์ มาบอกเล่าประสบการณ์การดูแลสุขภาพกันทั้งครอบครัว โดยเริ่มที่แคมเปญสำหรับผู้หญิง Power of Women เพราะผู้หญิงคือเพศที่แข็งแกร่งไม่แพ้เพศชาย พลังและศักยภาพของผู้หญิงมีอยู่เต็มเปี่ยม หากแต่ต้องดูแลให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่กัน เพราะผู้หญิงในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ต่างมีไลฟ์สไตล์และความต้องการที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การดูแลสุขภาพต่างกัน อย่าคิดว่าอายุยังไม่มากแล้วคงไม่เป็นอะไรง่ายๆ แต่ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ผู้หญิงก็ควรดูแลตัวเองและระวังโรคภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ การดูแลตัวเองให้แข็งแรงในระยะยาว ดูดีอยู่เสมอและห่างไกลจากโรค เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ 




นพ.พูลศักดิ์ ไวความดี สูตินรีแพทย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ รพ.กรุงเทพ กล่าวถึงประเด็น ตรวจก่อนแต่ง พร้อมให้จริงก่อนมีลูกว่า อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน บวกกับความเสื่อมของร่างกายที่เกิดขึ้นตามวัย เป็นเหตุผลสำคัญที่คู่สมรสที่เตรียมตัวเป็นคุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนใส่ใจดูแลและเรียนรู้ที่จะรับมือกับปัญหาสุขภาพอย่างถูกต้อง การวางแผนครอบครัวเพื่อจะได้มีบุตรที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ควรเตรียมตัวเตรียมใจให้ถูกต้อง การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดเพื่อสืบหาโรคที่เป็นพาหะเพื่อไม่ให้โรคถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ได้  หากพบความผิดปกติ จะได้หาวิธีตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เริ่มต้นจาก 1. ขอคำปรึกษาและคำแนะนำโดยแพทย์เฉพาะทาง 2. หากอยากมีบุตรทันที ฝ่ายหญิงต้องมีการเตรียมความพร้อม ควรรับประทานโฟลิคแอซิดก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน 3. แต่หากยังไม่อยากตั้งครรภ์ แพทย์สามารถแนะนำวิธีคุมกำเนิด 4. ผู้หญิงบางคนอาจมีซีสต์ หรือเนื้องอก หากตรวจพบปัญหาก่อนตั้งครรภ์ จะได้ไม่เป็นอันตรายทั้งแม่และลูกในขณะตั้งครรภ์ 5.การตรวจเลือดเพื่อหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การเจาะเลือด การตรวจหากรุ๊ปเลือดหมู่โลหิต เอ บี โอ  และหมู่โลหิตอาร์เอช ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นหมู่โลหิตอาร์เอชบวก (Rh positive) แต่ก็พบเลือดชนิดอาร์เอชลบได้บ้าง หากฝ่ายหญิงมีเลือดเป็นอาร์เอชลบ (Rh negative) และสามีเป็นอาร์เอชบวก เมื่อตั้งครรภ์ทารกในครรภ์อาจจะมีความเสี่ยงได้


นอกจากนี้การตรวจเลือดทั้งสองฝ่ายช่วยให้ทราบถึงพาหะธาลัสซีเมียที่สามารถถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ การตรวจเลือดคุณผู้ชายมีประโยชน์เพื่อหาความผิดปกติของโรคต่างๆ ที่จะเป็นพาหะหรือโรคติดเชื้อไปยังฝ่ายหญิงและส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส โรคเอดส์ และไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
นพ.พูลศักดิ์ ไวความดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เรื่องอายุขึ้นเลข 3 เสี่ยงซีสต์รังไข่ แต่รักษาได้ ว่า โรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงอายุระหว่าง 30-40 ปี ได้แก่ เนื้องอกมดลูก ซีสต์ในรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จนลามไปเป็นช็อกโกแลตซีสต์ โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ อาจมีแค่อาการปวดท้องน้อย ปวดประจำเดือน เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ บางรายไข่ไม่ตกมีประจำเดือนไม่ปกติ ซึ่งอาจเกิดจากมีถุงน้ำเล็กๆจำนวนมากในรังไข่ จนรังไข่บวมมีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ถุงน้ำหรือซีสต์ของรังไข่เหล่านี้ หากพบในสตรีอายุน้อยมักรักษาให้หายได้ แต่ถ้าพบในสตรีวัยใกล้หรือหมดประจำเดือนอาจมีเซลล์ผิดปกติที่มีโอกาสจะกลายเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งก็ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่นๆ ปัจจุบันการรักษาโรคซีสต์ในรังไข่มักได้ผลดีด้วยเทคโนโลยี การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กทางนรีเวช (Minimally Invasive Surgery)” ทำให้ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ที่หน้าท้อง มีแผลเล็กขนาด 5-10 มม. ประมาณ 3-4 จุด เสียเลือดน้อย ช่วยลดการเกิดพังผืดหลังการผ่าตัด ทั้งยังฟื้นตัวเร็ว 1-2 วันก็สามารถกลับบ้านได้ และใช้ชีวิตปกติได้ใน 1 สัปดาห์ ด้วยความพร้อมของทีมแพทย์และเครื่องมือเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบันทำให้สามารถวินิจฉัย วางแผน และให้การรักษาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยแก่ผู้ป่วยแต่ละบุคคล ข้อแนะนำที่สำคัญสำหรับคุณผู้หญิงทุกๆคน คือ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจภายในและอัลตราซาวนด์เป็นประจำทุกปี หากตรวจพบความผิดปกติ ควรรีบรักษา
พญ.วนิชา ปัญญาคำเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงการคลอดบุตรอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก และจะรับมืออย่างไรกับภาวะครรภ์เสี่ยง ว่า เมื่อถึงวันที่คุณแม่ตั้งครรภ์ การตรวจครรภ์ และฝากครรภ์กับทีมสูติ-นรีแพทย์ที่มีความชำนาญ เพื่อวินิจฉัยคุณแม่ตั้งครรภ์ทีมีความเสี่ยงสูงย่อมช่วยป้องกันและรักษาความผิดปกติขณะตั้งครรภ์  เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ความผิดปกติของทารกในครรภ์เบาหวานในคุณแม่ตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ธาลัสซีเมียในทารก เป็นต้น โดยการทำงานร่วมกันกับทีมกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดที่มีความชำนาญเฉพาะทาง  สามารถรับมือเมื่อเกิดภาวะทารกแรกเกิดวิกฤติ อาทิ คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น ได้อย่างทันท่วงที ช่วยให้คุณแม่ปลอดภัย เจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลกได้อย่างสมบูรณ์และเติบโตอย่างมีคุณภาพ



การฝากครรภ์มีความสำคัญกับคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณแม่ทราบถึงการปฏิบัติตัวที่ถูกวิธีระหว่างตั้งครรภ์ ตั้งแต่การดูแลตัวเอง การดูแลทารกในครรภ์ และการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว ก็ยังช่วยตรวจหาคุณแม่ที่มีครรภ์เสี่ยงสูง (High - Risk Pregnancy) เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คลอดก่อนกำหนด ความดันโลหิตสูงในคุณแม่ตั้งครรภ์ เป็นต้น สำหรับการตรวจความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ สูตินรีแพทย์จะทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อประเมินความเสี่ยงที่ทารกจะมีโครโมโซมผิดปกติ ช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ ความผิดปกติของทารกในครรภ์อย่างละเอียดช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ และประเมินการเติบโตของทารกช่วง 32-34 สัปดาห์ หากคุณแม่ตั้งครรภ์ทราบถึงความผิดปกติได้เร็วย่อมช่วยให้การดูแลทารกตั้งแต่ก่อนคลอด และหลังคลอดทำได้ดี เพื่อสุขภาพของคุณแม่และคุณลูกที่สมบูรณ์แข็งแรง

พญ.อรวรรณ อิทธิโสภณกุล แพทย์กุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด รพ.กรุงเทพ ได้ให้ข้อมูลเรื่อง ทารกแรกเกิดวิกฤต (NICU) มีความเสี่ยงอย่างไร ไว้ว่า ทารกหลังคลอดที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤตมีทั้งทารกคลอดครบกำหนดที่มีปัญหาหลังคลอดและทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งการดูแลทารกที่มีปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการดูแล ใน NICU ที่มีความพร้อมของทั้งทีมแพทย์และพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งต้องอยู่ใน NICU มีเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการดูแลเด็กทารกที่มีปัญหาหลังคลอดอย่างครบครัน ในกรณีทารกคลอดก่อนกำหนด มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ จะมีการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ทารกกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีเหมือนกับทารกคลอดครบกำหนด มีการติดตามพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในด้านพัฒนาการ การได้ยิน และการมองเห็น
นพ.นิธิ หล่อเลิศรัตน์ กุมารแพทย์ รพ.กรุงเทพ กล่าวถึง เด็กต้องการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ พัฒนาการและพฤติกรรม ว่า การส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการและได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมตามช่วงวัย จะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการด้านสติปัญญา อารมณ์ ทักษะทางสังคม การแก้ไขปัญหา และมีความคิดสร้างสรรค์ อันนำไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องการ เพราะพ่อแม่คือบุคคลสำคัญที่จะสร้างบันไดนำไปสู่ความสำเร็จแก่ลูก เพราะเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์และตัวตนที่แตกต่างกัน จึงตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการเข้าใจตัวตนของเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อพ่อและแม่จะได้ตอบสนองให้เหมาะสมกับเด็ก ตั้งแต่วัยแรกเกิด วัยรุ่นตอนต้น ไปจนถึงวัยรุ่นตอนโตที่มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ร่างกาย การเคลื่อนไหว การสื่อสาร อารมณ์ และสังคม การดูแลสุขภาพกายและใจของลูกให้แข็งแรง คือสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญและดูแลให้ครอบคลุม อีกทั้ง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหากเกิดโรค ดังนั้นวัคซีนในเด็กนั้นจึงมีความสำคัญมาก เพราะช่วยกระตุ้นภุมิคุ้มกันในร่างกายให้สูงขึ้นในระดับที่ป้องกันโรคได้ ช่วยลดการแพร่ระบาดและลดผลกระทบที่ร้ายแรง โดยเฉพาะเด็กตั้งแต่อายุ 1 - 8 เดือนควรได้รับวัคซีนที่เหมาะสม


พญ.หยิงฉี หวัง สูตินรีแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง ไอ จาม จนปัสสาวะเล็ด ช่องคลอดแห้ง ปัญหาที่พบบ่อยกับผู้หญิงสูงวัย ว่า ผู้หญิงที่อายุมากขึ้นย่อมส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เป็นความเสื่อมตามวัย ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาภายในผู้หญิง อย่าง อาการช่องคลอดแห้ง ซึ่งอาจต้องใช้ฮอร์โมนรักษา ช่องคลอดหลวม ไอ จาม ปัสสาวะเล็ด อาจต้องผ่าตัด  ส่วนอวัยวะเพศคล้ำ หย่อนคล้อย ทำให้เกิดความกังวลและขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต แต่ด้วยเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบันช่วยแก้ปัญหาภายในให้กับผู้หญิงได้ ด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์ฟื้นฟูจุดซ่อนเร้น Fractional Co2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแสงเลเซอร์ 360 องศาที่มาพร้อมสแกนเนอร์ที่ออกแบบมาเพื่อฟื้นฟูช่องคลอดผู้หญิง โดยแสงเลเซอร์จะผ่านสแกนเนอร์ไปยังผนังช่องคลอดเพื่อกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสต์ ทำให้ผลิตและจัดเรียงเส้นคอลลาเจนบริเวณเยื่อบุผิวได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ปรับสมดุลให้ผนังช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดชุ่มชื้น 90° ช่วยลดอาการไอ จาม ปัสสาวะเล็ด อีกทั้งยังมีสแกนเนอร์สำหรับผิวด้านนอกอวัยวะเพศหญิงที่จะเข้าไปกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวและผลัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดออกไป ลดความคล้ำลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น