วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2562

มุมมองกฎหมาย คาเฟ่แมว ธุรกิจบนชีวิตสัตว์



มุมมองกฎหมาย คาเฟ่แมว ธุรกิจบนชีวิตสัตว์
                                                                                  ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล
                                          เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
จากกรณีข่าวคาเฟ่แมวแห่งหนึ่งย่านวัชรพล ที่ถูกปิดตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมานั้น สำหรับในแง่กฎหมายนั้นมีมุมมองน่าสนใจ
  1. ต้องพิจารณาว่าการประกอบกิจการคาเฟ่ สัตว์เลี้ยงนั้น มีการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องหรือไม่ เพราะ กิจการคาเฟ่ สัตว์เลี้ยง เป็นกิจการควบคุมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  และผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอและการออกใบอนุญาต โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 ข้อ 7 กำหนดให้กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทต่าง ๆ เช่น กิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (1) การเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสัตว์ทุกชนิด (2) การประกอบกิจการเลี้ยงสัตว์ รวบรวม หรือธุรกิจอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันเพื่อให้ประชาชนเข้าชมหรือเพื่อประโยชน์ของกิจการนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าดูหรือค่าบริการในทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ก็ตาม ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการเท่านั้น ถ้าไม่มีถือว่าผิดกฎหมายและถ้ามีแล้วไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ก็มีสิทธิถูกเพิกถอนใบอนุญาตนั้นได้
  2.การเลี้ยงดูสัตว์ ภายในคาเฟ่นั้น  ถ้าดูแลไม่ดีไม่ว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าของ ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้สัตว์เลี้ยงในคาเฟ่นั้น ได้รับอาหารและน้ำในปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม จัดให้สัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและความปลอดภัย จัดให้สัตว์มีสุขภาพอนามัยที่ดี จัดควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม รักษาเมื่อสัตว์เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บโดยไม่ชักช้า หรือจัดการไม่ให้สัตว์ได้รับความเครียด หวาดกลัว เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต้องจัดให้สัตว์ได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและพลานามัยของสัตว์ ซึ่งถ้าเจ้าของคาเฟ่ไม่ดำเนินการการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท
อีกทั้งถ้าการเลี้ยงดูของเจ้าของคาเฟ่ หรือผู้ดูแลนั้น เป็นเหตุของการกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพหรืออาจทำให้สัตว์นั้นตาย หรือใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ เช่นนี้ ก็เข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ฯ พ.ศ.2557 และเจ้าของสัตว์นั้น ยังมีหน้าที่ต้องนำสัตว์เลี้ยง ไปฉีดวัคซีนป้องกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งต้องทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ด้วย ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ฝ่าฝืนก็มีโทษตามกฎหมายเช่นกัน แต่ถ้าเจ้าของคาเฟ่ ปิดกิจการ แล้วปล่อย ละทิ้งหรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์นั้นพ้นจากการดูแลของตนโดยไม่เหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ซึ่งกรณีที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามสมควร ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์อีกด้วย
ดังนั้นการคิดจะทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องบนชีวิตสัตว์ในปัจจุบัน เช่น ธุรกิจคาเฟ่ แมว เจ้าของกิจการและผู้เกี่ยวข้อง จำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ทั้งในแง่กายภาพสิ่งแวดล้อมของสัตว์ รวมทั้งในแง่สังคม กฎหมาย ที่สำคัญคือเจตนาและเป้าหมายของการทำธุรกิจ อย่าคำนึงถึงมูลค่าทางทรัพย์สินด้านเดียว แต่ควรคิดถึงคุณค่า ของชีวิตสัตว์เหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่รับรู้ได้ถึงความรู้สึกเจ็บปวด เจ็บป่วย ทุกข์ทรมานต่อสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับมนุษย์  ซึ่งมนุษย์ควรจะปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม ด้วยความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น