วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สุนัขจรจัดกับกรุงเทพมหานคร
ดร.สาธิต  ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)

ปัญหาสุนัขจรจัด เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปีที่ 2561 มีผู้ป่วย
โรคพิษสุนัขบ้าและเสียชีวิตกว่า 17 ราย แพร่ระบาดใน 14 จังหวัด พบสัตว์เป็นโรคกว่า 2,000 ตัว ที่สำคัญโรคพิษสุนัขบ้าปัจจุบันยังไม่มียารักษา ทุกครั้งเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับสุนัขจรจัดกัดประชาชน ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในวงกว้าง ครั้งล่าสุด ที่อำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ สุนัขกว่า 30 ตัว รุมกัดเด็ก 1 ขวบ เย็บกว่า 100 เข็ม ทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด หนึ่งในวิธีการนั้น คือการจับสุนัขจรจัด เรื่องดังกล่าวก็นำมาซึ่งความวิตกกังวลของผู้รักสัตว์เป็นอย่างยิ่ง กับการแก้ปัญหาดังกล่าว แม้ผู้ว่าราชการ กทม.จะออกมายืนยันว่า “กทม.ไม่ได้จับสุนัขไปฆ่า เรานำไปดูแล ให้บ้าน ให้ที่พักพิง และยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้สุนัขถูกทารุณกรรมจากคนที่ไม่รักมันด้วย ทุกขั้นตอนการปฏิบัติไม่มีการทำร้ายสุนัขโดยเด็ดขาด แต่ภาพขณะจับอาจจะสะเทือนใจคนรักสัตว์สักหน่อย”  เรื่องดังกล่าวจึงมีแง่มุมที่น่าสนใจ คือ
1. การแก้ปัญหาด้วยการจับสุนัขของ กทม. ควรมีประกาศและสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบอย่างทั่วถึงและตรงไปตรงมา  ถึงขั้นตอนกระบวนการ โดยควรมีวิธีการคัดกรองแยกสุนัขออกเป็นชนิด ประเภท และพิสูจน์หาเจ้าของก่อน ถ้าไม่มีเจ้าของและสุนัขจรจัดตัวนั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าว ดุร้าย สุ่มเสี่ยงกับการติดและแพร่เชื้อโรค ทำร้ายคน ก็ควรดำเนินการจับก่อน แต่ถ้าสุนัขจรจัดไม่ได้สร้างปัญหา ก็ควรจะมีมาตรการอื่น ๆ รองรับ เช่น นำไปฝึกหรือเลี้ยงดูและหาบ้านใหม่แทนการจับและที่สำคัญ กทม.ควรให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าสถานที่ที่ กทม.เลือกรับเลี้ยงนั้น สามารถรองรับสุนัขได้ อย่างมีมาตรฐานในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี เมื่อจับแล้วการเคลื่อนย้ายสุนัขจำนวนมาก จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งก็ต้องควรระมัดระวัง จะต้องมีการคัดกรองโรค ฉีดวัคซีนและทำหมันให้เรียบร้อยก่อน  เป็นต้น
2. แม้ปัจจุบันกฎหมาย ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ไปดำเนินการกับสุนัขจรจัดได้ เช่น พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 มาตรา 9 กำหนด ในที่สาธารณะเมื่อปรากฎว่าสุนัขไม่มีเจ้าของหรือไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ให้ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจจับและกักขังเพื่อหาเจ้าของและให้เจ้าของมารับคืน และมีอำนาจในการพิจารณาตามหลักวิชาการว่าสัตว์นั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่  ถ้ามีก็ให้อำนาจในการทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้ สำหรับ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535  ตามมาตรา 30 ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพบสุนัขในที่หรือทางสาธารณะ โดยไม่ปรากฏเจ้าของ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจกักสุนัขเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้เจ้าของมารับคืนถ้าไม่มาก็ให้สุนัขนั้นตกเป็นของราชการส่วนท้องถิ่น พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557  ตามมาตรา 26 กำหนดกรณีที่พบสุนัขถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างเหมาะสม ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ข้อ 22 ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่  พบสุนัขในที่หรือทางสาธารณะ ในเขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยไม่ปรากฎเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กักสัตว์ดังกล่าวไว้ และให้ดำเนินการตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ก็ตาม
แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ยังต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เช่นกัน คือจะต้องไม่กระทำให้สุนัขได้รับความทุกทรมาน เจ็บปวด เจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ จนทำให้สุนัขนั้นตายได้ จะถือเป็นการทารุณกรรมสุนัขโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 20 ซึ่งจะมีโทษตามมาตรา 31 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งผู้ดูแลสุนัขก็ต้องเลี้ยงดูสุนัขให้ได้รับอาหารและน้ำที่มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพ สุนัขนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการดำเนินชีวิตและมีความปลอดภัย ได้รับการจัดการควบคุมโรคที่ดี โดยไม่ได้รับความเครียดหรือหวาดกลัว เจ็บป่วยทุกข์ทรมานโดยไม่มีเหตุอันสมควรและที่สำคัญต้องมีโอกาสแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติที่จำเป็นด้วย ตามมาตรา 22 ถ้าไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทั้งแง่กฎหมายและมิติทางสังคม ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันหาทางออกด้วยเหตุและผลที่เหมาะสม ให้เกิดดุลยภาพและความสงบสุขเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะแท้จริงแล้วสุนัขจรจัดไม่ใช่ปัญหาแต่คนเราต่างหากที่มักสร้างปัญหาให้กับสุนัขจรจัดเสมอ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น