วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สภา กทม. ผลักดันกรุงเทพมหานครสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

วันที่(22 พ.ย. 61)พล.ต.ต.ประสพโชค พร้อมมูล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ครั้งที่ 2/2561 โดยมี คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั้ง 3 ชุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร ผู้แทนภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง)

          พล.ต.ต.ประสพโชค กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่สภากรุงเทพมหานครได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อทำการศึกษาแนวทางการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเป็นรูปธรรมด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก“เมืองอัจฉริยะ” หรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) เป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองของกระแสโลกในปัจจุบัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการพัฒนาให้เมืองมีความน่าอยู่มากขึ้น เชื่อมโยงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานของเมือง และทำให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่กันไป
          ทั้งนี้แนวทางพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น Smart city ประกอบด้วย 6 มิติ ได้แก่ 1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) 2. ด้านการเดินทาง ขนส่ง (Smart Mobility) 3.ด้านประชาสังคม (Smart People) 4. ด้านการบริหารภาครัฐ (Smart Governance) 5.ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (Smart Safety) และ 6. ด้านเศรษฐกิจ (Smart Economy) ซึ่งตนมีความเห็นว่า สมควรที่จะเริ่มต้นการพัฒนาในพื้นที่เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการศึกษาก่อนแล้วจึงขยายออกไปยังเขตพื้นที่โดยรอบที่มีความพร้อมในการพัฒนา หรือนำกระบวนการพัฒนาของพื้นที่เขตปทุมวันไปพัฒนาพื้นที่เขตอื่นๆ ส่วนด้านฝั่งธนบุรี ควรเริ่มต้นการพัฒนาจากย่านสะพานตากสินหรือสะพานสาทร เขตคลองสาน แล้วขยายไปยังพื้นที่ข้างเคียง
          ด้านนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้ความเห็นว่า การพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น Smart city ประกอบด้วย 6 มิติ น่าจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาว่าพื้นที่แต่ละเขตมีจุดเด่นด้านใด แล้วจึงหารือผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาให้เป็น Smart City ในมิติที่เกี่ยวข้องของพื้นที่เขตนั้น ๆ ต่อไป








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น