ข่าวอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในช่วงเปิดเทอม 2/2561
และรณรงค์ติดสติ๊กเกอร์ โครงการ “คุณอาคะ..กรุณาอย่าลืมหนูไว้ในรถนะคะ”
วันพุธที่ 31 ตุลาคม 2561 เวลา 06.45 น. ณ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รรท.ผู้ช่วย ผบ.ตร.,
พล.ต.ต.ธีรศักดิ์ สุริวงศ์ รรท.รอง ผบช.น., พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รรท.รอง ผบช.น., พล.ต.ต.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผบก.น.1, พ.ต.อ.นิธิธร จินตกานนท์ รรท. ผบก.จร., พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล ที่ปรึกษา บก.จร. และ คณะผู้บริหารโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โดย ภราดา ดร.มณฑล ประทุมราช ผู้อำนวยการ, ภราดา คฑาวุธ
สิทธิโชคสกุล และ ภราดา จำรัส แก้วอำคา รองผู้อำนวยการ ร่วมจัดการจราจรในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2561 โดยมี รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1, รองผู้บังคับการตำรวจจราจร และข้าราชการตำรวจ บก.จร., สน.สามเสน และอาสาจราจร ร่วมอำนวยความสะดวกและจัดการจราจร บริเวณหน้าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ถนนสามเสน
ตามนโยบายรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนและสถานศึกษา ซึ่งในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะเป็นช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ซึ่งอาจกระทบการจราจรติดขัดหรือมีรถสะสมบริเวณหน้าสถานศึกษา/โรงเรียน ส่งผลกระทบต่อการจราจรในภาพรวมแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเทอม ภาคการศึกษาที่ 2/2561 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประชุมและสั่งการให้ สน. พื้นที่ที่มีสถานศึกษา/โรงเรียนทั้งขนาดใหญ่และเล็กตั้งอยู่ วิเคราะห์สภาพปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไข และกำชับการปฏิบัติ โดยให้ สน.พื้นที่ ประสานการปฏิบัติร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร เข้าขอความร่วมมือกับทางโรงเรียน ดังนี้ การจัดการจราจรและจัดเตรียมสถานที่จอด รับ – ส่ง นักเรียน, ประชุมชี้แจงผู้ปกครองเกี่ยวกับขั้นตอนเตรียมพร้อมบุตรหลาน ในการรับ – ส่ง เมื่อถึงจุดส่งให้ จอดส่งโดยเร็ว ภายใต้สโลแกน “No kiss No hug No bye…เตรียมกระเป๋าพร้อมลง” เป็นต้น โดยปัจจุบันในหลายพื้นที่ได้เน้นจัดการจราจรโดยเปิดช่องการจราจรพิเศษ เพื่อเพิ่มช่องทางเดินรถ ทั้งในชั่วโมงเร่งด่วน เช้า และ เย็น โดยวิเคราะห์จากสภาพการจราจรและกายภาพของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณถนนที่มีสถานศึกษาตั้งอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งกระทบต่อการจราจรเป็นวงกว้าง จำนวน ๓ กลุ่มโรงเรียน ได้แก่
๑) กลุ่มโรงเรียนบริเวณถนนสามเสน ถนนนครราชสีมา และถนนราชวิถี
๒) กลุ่มโรงเรียนบริเวณถนนสีลม ถนนสาทร และถนนเจริญกรุง
๓) กลุ่มโรงเรียนบริเวณถนนเพชรบุรี ถนนอโศกมนตรี ถนนสุขุมวิท และถนนเพลินจิต
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้จัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกรับ – ส่ง บุตรหลาน ในกรณีที่ท่านผู้ปกครองประสบปัญหารถติดไม่สามารถส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนตามทันตามเวลา ตามโครงการ “ส่งน้องถึงโรงเรียน” โดยได้ให้ กองบังคับการตำรวจจราจร เป็นหน่วยนำร่องจัดรถจักรยานยนต์ สำหรับรับ – ส่ง นักเรียน ไปยังโรงเรียนตามจุดอำนวยความสะดวก จำนวนทั้งสิ้น 18 จุด (ในระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร) แบ่งเป็น
ทางลงด่วนเพลินจิต (รร.ในถนนสุขุมวิท และถนนเพลินจิต)
ทางลงด่วนสีลม (รร.ในถนนสีลม และถนนสาทร)
ทางลงด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ใต้ทางด่วนพระราม 4
จุดกลับรถตั้งฮั่วเส็ง
บริเวณโรงเรียน 13 แห่ง ได้แก่ (1) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (2) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (3) รร.ราชวินิตประถม (4) รร.ละอออุทิศ (5) รร.ราชินีบน (6) รร.เซนต์คาเบรียล (7) รร.อำนวยศิลป์ (8) รร.พญาไท (9) รร.สันติราษฎร์วิทยาลัย (10) รร.วัฒนาวิทยาลัย (11) รร.มาแตร์เดอี (12) รร.เซนต์ดอมินิค (13) รร.สามเสนวิทยาลัย
โดยผู้ปกครองสามารถโทรศัพท์แจ้งความสนับสนุนการรับ – ส่ง ได้ที่สายด่วน 1197
นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้ตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น จากกรณีเด็กถูกลืมหรือทิ้งไว้ในรถ จึงได้มีโครงการ “คุณอาคะ..กรุณาอย่าลืมหนูไว้ในรถนะคะ” เพื่อป้องกันเหตุลืมเด็กในรถ
รับ – ส่ง นักเรียน จากสถิติการลืมเด็กไว้ในรถ พ.ศ.2555 – 2561 ของกรมควบคุมโรค พบว่า มีเหตุการณ์ที่เด็กถูกลืมหรือทิ้งไว้ในรถ จำนวน 26 เหตุการณ์ เด็กเสียชีวิตทั้งหมด 9 ราย และช่วยไว้ได้ทัน 17 ราย ทั้งหมดอายุ 3 – 7 ปี โดยเด็กที่เสียชีวิตจากถูกลืมหรือทิ้งไว้ในรถ เป็นรถโรงเรียน 7 ราย และเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล 2 ราย ทั้งหมดถูกลืมหรือทิ้งไว้นานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแนะนำผู้ปกครอง พนักงานขับรถรับ – ส่ง นักเรียน และครูพี่เลี้ยงประจำรถ ให้เตือนตนเอง 3 ข้อควรจำเพื่อป้องกันการลืมเด็กในรถ คือ “นับ ตรวจตรา อย่าประมาท”
นับ คือนับจำนวนเด็กก่อนขึ้นและหลังลงจากรถทุกครั้ง ตรวจตรา คือก่อนล็อคประตูรถ ตรวจดูให้ทั่วรถ อย่าประมาท คือ อย่าทิ้งเด็กไว้เพียงลำพังแม้ช่วงสั้นๆ ก็ตาม หากพบเด็กถูกลืมไว้ในรถ ให้เรียกเจ้าของรถเพื่อมาเปิดรถโดยเร็ว หรือขอให้คนรอบข้างช่วยเหลือ โดยสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือมายัง สายด่วน 1197 หรือ 191 และอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นการป้องกันที่สำคัญ คือ ตัวเด็กเอง ควรจะสอนเด็กและอธิบายวิธีเอาตัวรอดเมื่ออยู่ในรถ ฝึกให้คุ้นเคยก่อนเจอเหตุสูญเสียที่เกิดจากความประมาท ป้องกันไว้ก่อน ถ้ารู้ไว้ก็จะเป็นประโยชน์กับเด็ก เริ่มจากให้เด็กลองสำรวจรถที่บ้าน หรือสอนเวลาเข้านั่งรถไปไหนด้วยกัน
การบริหารจัดการปัญหาสภาพจราจรช่วงเปิดเทอมจะบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือ ผู้ปกครอง โรงเรียน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอความร่วมมือจากประชาชนทุกท่านมา ณ โอกาสนี้
งานประชาสัมพันธ์ บก.จร.