วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2567

“ความพร้อมของประชาชนในการรับมือโรคฝีดาษวานร”

 “ความพร้อมของประชาชนในการรับมือโรคฝีดาษวานร” 


สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความพร้อมของประชาชนในการรับมือโรคฝีดาษวานร” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22–30 สิงหาคม 2567 จากการสำรวจ เกี่ยวกับความรู้สึกเกี่ยวกับระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคฝีดาษวานรของประชาชน ตามความคิดเห็นของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 73.36 ระบุว่า มีความรู้ระดับปานกลาง มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 21.36 ระบุว่า มีความรู้เล็กน้อย และร้อยละ 5.28 ระบุว่า ไม่มีความรู้เลย เมื่อสอบถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาของความรู้ความเข้าใจหลักเกี่ยวกับโรคฝีดาษวานรของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 54.36 ระบุว่า สื่อสังคมออนไลน์ มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 21.54 ระบุว่า สื่อมวลชน  ร้อยละ 11.64 ระบุว่า หน่วยงานสาธารณสุข ร้อยละ 7.42 ระบุว่า ชุมชน และร้อยละ 5.04 ระบุว่า สมาชิกในครอบครัว และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับความต้องการของประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรคฝีดาษวานรของภาครัฐที่ประชาชนอยากได้มากที่สุด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 62.32 ระบุว่า การจัดหาวัคซีน มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 16.34 ระบุว่า มาตรการควบคุมการระบาด ร้อยละ 11.32 ระบุว่า การสื่อสารและแจ้งเตือน ร้อยละ 7.68 ระบุว่า การตรวจจับและเฝ้าระวังโรค และร้อยละ 2.34 ระบุว่า การวิจัยและพัฒนา



ดร.ธนเสฎฐ์ อัคคัญญ์ภูดิส

อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล

โทรศัพท์ มือถือ 089-474-9514


สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โทรสาร02-878-5002

E-mail:siamtechno_poll@siamtechno.ac.th

บอร์ดคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ไฟเขียวแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมของประเทศไทยสู่ระดับสากล มุ่งใช้ทุนทางวัฒนธรรมส่งเสริม Soft Power - ชู 4 ยุทธศาสตร์ เน้นสร้างคน-ระบบนิเวศสร้างสรรค์ - เสน่ห์ไทย ผลักดัน “แบรนด์ประเทศไทย” ให้เป็นที่ชื่นชอบ ชื่นชมและเชื่อถือทั่วโลก

 บอร์ดคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ไฟเขียวแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมของประเทศไทยสู่ระดับสากล มุ่งใช้ทุนทางวัฒนธรรมส่งเสริม Soft Power - ชู 4 ยุทธศาสตร์   เน้นสร้างคน-ระบบนิเวศสร้างสรรค์ - เสน่ห์ไทย ผลักดัน “แบรนด์ประเทศไทย” ให้เป็นที่ชื่นชอบ ชื่นชมและเชื่อถือทั่วโลก



นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมของประเทศไทยสู่ระดับสากล (พ.ศ. 2567 - 2570) สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และการจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมฉบับดังกล่าว โดยร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและวิเคราะห์การดำเนินงานในภาพรวมของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับเศรษฐกิจวัฒนธรรม ทั้งบริบทการดำเนินงานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศและจุดยืนของประเทศไทยในมิติเศรษฐกิจวัฒนธรรมในระดับสากล เพื่อสังเคราะห์ธีม (Theme) ในการนำเสนอประเทศไทยอย่างลุ่มลึก หลากหลาย และสร้างแรงดึงดูดที่มีพลังมากยิ่งขึ้น  



 “คณะผู้จัดทำ (ร่าง) แผนได้ศึกษาวิจัยโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ผ่านมุมมองของชาวต่างชาติ            จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายทั่วโลกกว่า 3,600 ตัวอย่าง รวมถึงสิ่งที่ชาวต่างชาติคาดหวังจากประเทศไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด พบว่า ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆที่ต่างชาติต้องการเข้ามาท่องเที่ยวและเป็นประเทศที่สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ เกิดความรู้สึกที่ดีและอยากกลับมาประเทศไทยอีก และเป็นประเทศที่มีขนบธรรมเนียมและศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจและต้องการสัมผัส รู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งและต้องการเข้าใจแนวคิด ความเชื่อแบบไทย ๆ ผ่านสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์และมีคุณค่าสากล จากการศึกษาวิจัยได้นำข้อมูลมาประมวลผลวิเคราะห์จุดยืนของประเทศไทยในการขับเคลื่อน Soft Power (Thailand’s Soft Power Positioning) หรือการสร้างอัตลักษณ์ด้าน Soft Power ของประเทศไทย (Nation Branding) เพื่อให้เกิดการจดจำในสายตาของประชาคมโลกและสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์และบริการของประเทศ” รมว.วธ. กล่าว



นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนฉบับดังกล่าว ได้กำหนดวิสัยทัศน์คือ              “แบรนด์ประเทศไทย” เป็นที่ชื่นชอบ ชื่นชมและเชื่อถือทั่วทุกมุมโลก” และมีวัตถุประสงค์คือขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมของประเทศไทยสู่ระดับสากลด้วยการสร้างและส่งเสริม ดังนี้ 1.ระบบนิเวศบนฐานการประสานพลัง ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติในอนาคต 2.สังคมยั่งยืน มั่นคงและเอื้อต่อศักยภาพอันหลากหลายของผู้คน 3.เศรษฐกิจเติบโตด้วยมูลค่าเพิ่มจากฐานภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์และ                   4.ประเทศไทยมีบทบาท สถานะ และจุดยืนที่เข้มแข็งและโดดเด่นบนเวทีโลก นอกจากนี้ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 3 ประการ ประกอบด้วย1.ทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทยได้รับการรักษา พัฒนา และต่อยอดอย่างยั่งยืน  2. เศรษฐกิจวัฒนธรรมของไทยเติบโตเพิ่มขึ้น และ 3.บทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลกได้รับการยกระดับด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรม ที่สำคัญยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน 4 ประเด็น ดังนี้                1.เสริมสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของแบรนด์ประเทศไทย 2.เตรียมความพร้อมให้ “คน” มีบทบาทหลักในการพลิกโฉมเศรษฐกิจวัฒนธรรม 3.ยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดโลกต่อคุณภาพและคุณค่าของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของประเทศไทย และ 4.ยกระดับแบรนด์ประเทศไทยให้โดดเด่นเป็นที่ยอมรับอย่างยั่งยืน



ทั้งนี้ วธ.ได้นำ (ร่าง) แผนฯ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน บุคคล คณะกรรมการ และอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องมาแล้วจำนวน ๙ ครั้ง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค               ที่สำคัญได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗  เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมารับทราบแล้ว ทั้งนี้ (ร่าง) แผนฉบับดังกล่าว นับว่าเป็นการย้ำชัดให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความพร้อมของประเทศไทยในการยกระดับศักยภาพของประเทศสู่สนามแข่งระดับสากลและนับเป็นแผนแกนกลางของประเทศ ในการใช้ทุนทางวัฒนธรรมขับเคลื่อน Soft Power อย่างชัดเจนและมีบูรณาการสร้างอัตลักษณ์ใหม่สู่แบรนด์ประเทศไทยที่โดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบและชื่นชมของผู้คนทั่วโลก ที่สำคัญ (ร่าง) แผนฉบับดังกล่าวไม่เพียงมุ่งสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนอย่างเห็นผลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนนัยแห่งความจำเป็นในการสร้างทัศนวิสัยใหม่ให้กับผู้คนทั่วโลก เรียกร้องให้หันมองประเทศไทยในมุมใหม่ ผ่านการต่อยอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า สู่สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีคุณภาพสู่สายตาประชาคมโลกอย่างแท้จริง 



อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลังจากนี้ นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดังกล่าวเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนและแนวทางการเสนอแผนระดับ 3 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป




อุ่นให้ร้อนก่อน " ฟุตซอลโลก" บิ๊กทิน เผย เตรียมทีมก่อนไปอุซเบกิสถาน

 อุ่นให้ร้อนก่อน " ฟุตซอลโลก" บิ๊กทิน เผย เตรียมทีมก่อนไปอุซเบกิสถาน



   สุทิน บัวตูม ผู้จัดการฟุตซอลทีมชาติไทย ชุดเตรียมทำศึก   ContinentalFutsal Championship Thailand 2024 เปิดเผยว่า การทัวร์นาเมนต์ ถือเป็นเวทีสำคัญ ในการเตรียมเดินทาง ไปแข่งขันฟุตซอลโลก ที่ประเทศอุซเบกิสถาน จึงต้องทุ่มเทสุดเหวี่ยง และได้กำลังใจจาก นายกสมาคมกีฬาฟุตบอล คุณนวลพรรณ ลํ่าซำ และบิ๊กป๋อม " อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ อุปนายกสมาคมฟุตบอล ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมาตลอด พร้อมด้วย ดร.อดิศร ไชยคุปต์ รองอสส. ในฐานะที่ปรึกษา ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย



    การนำทีมฟุตซอลสู่เวทีโลกครั้งนี้ นักกีฬามีขวัญกำลังใจ จาก คุณทศพล-วรีพร ตันติวงษ์ ประธานบริหาร บ. สงวนวงษ์ อะตสาหกรรมแป้งมัน ใหญ่ที่สุดในเอเซีย, โงเรียนปลูกปัญญา จ.นครราชสีมา รวมถึง ดร.ปัญจรัตน์ มังกรกนก, คุณธีร์รัตถ์ สุทธิสัมพันธ์ แห่ง บ.ยูไนเต็ด ฟู้ดส์ จก. (มหาชน) ที่ร่วมกันให้แรงใจ ฟุตซอล ทีมชาติไทย


   สำหรับ Continental Futsal Championship Thailand 2024  ครั้งนี้ ต้องการอุ่นเครื่องให้ร้อน ก่อนฟุตซอลโลก มี  5 ชาติร่วมฟาดแข้ง  มีฟุตซอลไทย,นิวซีแลนด์, อัฟกานิสถาน, คูเวต และกัวเตมาลา ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม- 6กันยายน 2567    ณ สนามกีฬาจังหวัดนนทบุรี (วัดโบสถ์ดอนพรหม) ถ่ายทอดทาง Facebook ,Youtube :Futsal Thailand และChangsuck Official กัวเตมาลา พบคูเวต เวลา 16.30 น. วันที่ 2  กันยายน 2567 อัฟกานิสถาน พบ กัวเตมาลา เวลา 16.30 น. ไทยพบ คูเวต เวลา 19.30 น. วันที่ 3 กันยายน 2567 คูเวต พบ อัฟกานิสถาน เวลา 16.30 น. กัวตามาลา พบ นิวซีแลนด์ 19.30 น.



     วันที่ 4 กันยายน 2567  นิวซีแลนด์ พบ อัฟกานิสถาน 16.30 น. ไทยพบ กัวตามาลา เวลา 19.30น. และวันที่ 6 กันยายน 2567 นิวซีแลนด์ พบอัฟกานิสถาน เวลา 19.30 น.  การแข่งขันรายการนี้ เปิดชมฟรีทุกคู่ ความจะ ของสนาม 4.000  ที่นั่ง

สภท.มอบรางวัล 6 ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ดีเด่น

 สภท.มอบรางวัล 6 ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ดีเด่น



สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย ครบรอบ 59 ปี จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 พร้อมทั้งมอบรางวัลตำรวจ ในสาขา “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ดีเด่น”



เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2567 นายสุทิน คลังแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมายังโรงแรมคิงปาร์ค อเวนิว ซอยศรีนครินทร์ 40 เขตประเวศ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นประธานในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปี โดยมี นายอนันต์ นิลมานนท์ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการ ให้การต้อนรับ



โดย นายสุทิน คลังแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งกล่าวว่า ตนเองเคยเป็นสื่อมวลชนภูมิภาคมาก่อน ซึ่งสื่อมวลชนถือเป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอข่าวให้ประชาชนได้รู้ข่าวสาร ทันข่าว ทันคน ทันโลก ทันเหตุการณ์ พร้อมทั้งให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัลให้กับตำรวจ ในสาขา “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ดีเด่น” โดยมีผู้เข้ารับรางวัลดังนี้


1.พลตำรวจตรี ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล 


2.พลตำรวจตรี ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง1 


3.พันตำรวจเอก จตุรวิทย์ คชน่วม รองผู้บังคับการกองตรวจราชการ4 จเรตำรวจ 


4.พันตำรวจเอก ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง

 

5.พันตำรวจเอก สาธิต สมานภาพ ผู้กำกับการ 5 กองบังการตำรวจทางหลวง

 

และ6.พันตำรวจตรีหญิง พรพิศ อักษรดี สารวัตรอำนวยการ สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี


ทั้งนี้ ภายหลังการรับรางวัลได้ร่วมกันถ่ายภาพหมู่ร่วมกับรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกด้วย.


********************

 เด็กไทยสร้างชื่อ! คณะวิศวะ ม.เกษตร ศรีราชา คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสวยงาม “สะพานเหล็กรูปหัวใจ” หลังขนทีมนิสิตร่วมแข่งขันที่เวียดนาม





การแข่งขันโครงสร้างสะพานเหล็กจำลองระดับเอเชีย Asia Bridge Competition เป็นการแข่งขันเพื่อความสัมพันธ์ของสาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิศวกรรมสะพาน สร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันของแต่ละมหาวิทยาลัย   Asia Bricom Cantho University Vietham 2024 ในปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศเวียดนามช่วงระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2567   มีมหาวิทยาลัยที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันรวม21 ทีม จาก 6 ประเทศ ในแถบภูมิภาคเอเชีย และปีนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตศรีราชา ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นครั้งแรก สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสวยงามมาครอง สร้างชื่อเสียงให้กับสถานศึกษา และประเทศไทย 




ดร.พอจันทร์  ตุฏฐิพงษ์สวัสดิ์  อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา  กล่าวว่า กลุ่มนิสิตของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มีความสนใจที่จะเข้าร่วมแข่งขัน โครงสร้างสะพานเหล็กจำลองระดับเอเชีย ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศเวียดนาม   โดยนิสิตเริ่มเตรียมตัวกันมาตั้งแต่ช่วงเดือน มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยแนวคิดของสะพานเหล็กจำลองในปีนี้ เด็กใช้ชื่อแนวคิดว่า Trust yourself  truss your heart คือ เชื่อมั่นในตัวเองก่อน เชื่อมั่นว่าเราทำได้   โดยทำสะพานเหล็กเป็นรูปหัวใจ  ถือว่า ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นการเดินทางไปแข่งขันครั้งแรก ของวิทยาเขตศรีราชา  และได้รางวัลชนะเลิศ ประเภทสวยงาม  จากทีมที่ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด  21 ทีม 






สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการ วันแรกของการแข่งขันคือวันที่ 27 ส.ค.2567 ทางคณะกรรมการจะให้ทางผู้เข้าแข่งขันพรีเซนท์ผลงานของตัวเอง รูปแบบของสะพานที่ออกแบบมา มีแนวคิดอย่างไร  มีเทคนิค ในการทำข้อต่ออย่างไร ให้ได้ระยะโก่งตัวตามที่กำหนด หรือ ทำให้ประกอบเร็วขึ้น   จากนั้นจะให้ทำการประกอบโครงสร้างสะพาน ที่กลุ่มนิสิต เตรียมกันมาตั้งแต่ที่มหาวิทยาลัย เพื่อประกอบให้คณะกรรมการดู และทดสอบความสามารถในการรับน้ำหนัก   





โดยรางวัลในแต่ละประเภทที่ทางคณะผู้จัดงานตั้งเกณฑ์ไว้   อาทิ   ต้นทุนการก่อสร้างต่ำ  ค่าโครงสร้างวัสดุต่ำ  ต้นทุนรวมต่ำ  ความแม่นยำของการโก่งตัวของสะพาน   การนำเสนอผลงาน  และรางวัลประเภทสวยงาม   ปรากฏว่าผลงานของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตศรีราชา  ได้รางวัลชนะเลิศในประเภทสวยงาม สำหรับนิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตศรีราชาที่ร่วมแข่งขันในปีนี้ประกอบด้วย นายจิตติพัฒน์ เนียมรุ่งเรือง , นางสาวญารินดา รูปอั๋น , นางสาวนิศาชล ทองชาติ ,นางสาววรารักษ์ บุญธรรม , นายสิทธินนท์ คำสวี , และ นางสาวอภิสรา สิงห์เล็ก



 ดร.พอจันทร์  ยังกล่าวด้วยว่า  นอกเหนือจากรางวัลที่กลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้รับมาแล้ว คิดว่าการที่ได้ไปร่วมการแข่งขันครั้งนี้  เด็กๆคงได้รับประสบการณ์หลายอย่าง  ได้พบเจอเพื่อนใหม่ต่างสถาบัน  ต่างประเทศ  ได้แลกเปลี่ยนแนวความคิด และเทคนิคในการทำสะพานเหล็ก ได้ไอเดียใหม่ๆที่จะนำมาพัฒนา เพื่อใช้ในการแข่งขันในปีต่อๆไป 


ร้อยเอ็ด-มอบบ้านช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ ให้แก่ราษฎร อำเภอจตุรพักตรพิมาน

 ร้อยเอ็ด-มอบบ้านช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ ให้แก่ราษฎร อำเภอจตุรพักตรพิมาน




       วันที่ 28 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายชัยวัฒน์  ชัยเวชพิสิฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด  เป็นประธานพิธีมอบบ้านตามโครงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก่ นางพร  ไชยเสริม ณ บ้านเลขที่ 51 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองผือ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นางนภาพร  ชัยเวชพิสิฐ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดร้อยเอ็ด นายอำเภอจตุรพักตรพิมาน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ และประชาชน เข้าร่วมพิธี




       นางนภาพร  ชัยเวชพิสิฐ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า  เหล่ากาชาดจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดทำโครงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม เทิดไท้องค์ราชัน ของสภากาชาดไทย ที่เป็นการช่วยเหลือครอบครัวผู้ยากไร้ แต่เป็นคนดีของสังคม ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ก่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความสามัคคี และความร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือสังคมของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งใช้งบประมาณจากเหล่ากาชาดจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 3,600,000 บาท เพื่อจัดซื้อวัสดุในการก่อสร้างบ้าน จำนวน 18 หลัง หลังละ 150,000 บาท   



  

 ///

คมกฤช พวงศรีเคน ข่าว/ภาพ

ชาติ มหาชน ศูนย์ข่าวทีวีประชาชนออนไลน์/รายงาน

ประมงสมุทรสงครามเดินหน้าจับปลาหมอคางดำไม่หยุด จัดลงแขกลงคลองต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8

 ประมงสมุทรสงครามเดินหน้าจับปลาหมอคางดำไม่หยุด จัดลงแขกลงคลองต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8




กรมประมง โดย สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงคราม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมง (FC) สมุทรสงคราม น.อ.อชิตะสิน กำมะณี รอง ศรชล.จว.สส.  สภ.ลาดใหญ่  กอ.รมน.จว.สส. ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน เดินหน้าต่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จัดกิจกรรมลงแขกลงคลองต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8/2567 ลงพื้นที่สำรวจความหนาแน่นปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำและจับปลาหมอคางดำ




นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมง (FC) สมุทรสงคราม หน่วยงานราชการภาคีที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่เปิดปฏิบัติการจับปลาหมอคางดำ ณ คลองลาดใหญ่ (บริเวณหน้าวัดลาดใหญ่) หมู่ที่ 11 ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมแรงร่วมใจจับปลาหมอคางดำพร้อมทั้งบูรณาการทำงานร่วมศูนย์วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงครามเพื่อศึกษาความหนาแน่นของปริมาณปลาในหมอคางดำในแหล่งน้ำเพื่อกำหนดแผนการจัดการปลาชนิดนี้อย่างเป็นระบบ และรวบรวมปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ของ ศพช.สมุทรสงครามดัดแปลงโครโมโซมปลาหมอคางดำ ทำให้เป็นหมัน แพร่พันธุ์ไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนแห กากชา รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ร่วมงาน จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) อีกด้วย




นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กิจกรรมลงแขกลงคลอง เป็นหนึ่งในแนวทางการลดและควบคุมประชากรปลาหมอคางด ไม่ให้ทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นในแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกร และเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนและเกษตรกรได้มาร่วมมือกันหยุดยั้งการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ ทั้งนี้ สมุทรสงครามจัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” 7 ครั้งที่ผ่านมา สามารถจับปลาได้มากกว่า 3,300 กิโลกรัม มีการสนับสนุนปลานักล่า (ปลากะพงขาว) ให้กับกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย จำนวน 8,000 ตัว เพื่อนำไปอนุบาลหรือเลี้ยงให้มีขนาดโตขึ้น มีความแข็งแรงสามารถไล่ล่าได้ดี จากนั้นนำมาวางแผนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำร่วมกัน พร้อมทั้งติดตามประเมินผลอย่างจริงจัง


การจัดกิจกรรมลงแขก-ลงคลองในครั้งนี้  มีการดำเนินการใน 3 พื้นที่ ดังนี้

1. บริเวณคลองย่อยคลองลาดใหญ่ (หน้าวัดลาดใหญ่) ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม ดำเนินการโดยสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมง (FC) สมุทรสงคราม หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง สามารถจับสัตว์น้ำได้จำนวน 408.20 กิโลกรัม แบ่งเป็นปลาหมอคางดำ จำนวน 267.10 กิโลกรัม และปลากระบอก จำนวน 141.10 กิโลกรัม 

2. บริเวณคลองเลียบถนนเอกชัย ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม ดำเนินการโดย สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมง (FC) สมุทรสงคราม สามารถจับปลาหมอคางดำได้ 100 กิโลกรัม

3. บริเวณคลองสาม ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม ดำเนินการโดยผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ตำบลบางแก้ว  การดำเนินงานอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ประมง สามารถจับปลาหมอคางดำได้ จำนวน 6,240 กิโลกรัม. 


รวมยอดการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ (30 สิงหาคม 2567) ทั้งสิ้น 6,607.10 กิโลกรัม และมีการนำปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ 3 ช่องทาง คือ นำไปเป็นเหยื่อเลี้ยงปูทะเล  นำไปเป็นอาหารเลี้ยงเป็ด และนำส่งโรงงานปลาป่น


นอกจากนี้ จังหวัดยังได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อส่งเสริมให้มีการจับปลาหมอคางดำมากขึ้น ต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งสำนักงานประมงสมุทรสงครามได้ดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ได้ครบตามโควต้าที่ได้รับการจัดสรรเรียบร้อยแล้ว  พร้อมกันนี้ ประมงสมุทรสงครามได้ประสานกับโรงงานปลาป่น บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อขายปลาหมอคางดำทำปลาป่นในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม (โดยผู้ขายได้ 12 บาท แพปลาได้ 3 บาท)  แพปลาในจังหวัดสมุทรสงครามได้นำส่งปลาหมอคางดำเข้าโรงงานศิริแสงอารำพี ในระหว่างวันที่ 20-29 สิงหาคม 2567 แล้ว 53,070 กิโลกรัม


การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้ปริมาณปลาในจังหวัดสมุทรสงครามลดลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ประมงสมุทรสงคราม ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันแจ้งเบาะแสการพบปลาหมอคางดำให้กับกรมประมง เพื่อจัดทีมไล่ล่าปลาหมอคางดำในครั้งถัดไป


มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดพิธีแจกเครื่องอุปโภคบริโภคครั้งยิ่งใหญ่ในงานประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2567

 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดพิธีแจกเครื่องอุปโภคบริโภคครั้งยิ่งใหญ่ในงานประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2567



เวลา 09:00 น.วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานในพิธี ประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2567 พร้อมคณะผู้บริหารมูลนิธิฯ นำโดย นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ดร.สุทัศน์ เตชะวิบูลย์ รองประธานกรรมการ นายสัก กอแสงเรือง รองประธานกรรมการ นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ  พร้อมด้วยคณะกรรมการ และผู้ช่วยกรรมการมูลนิธิฯ จัดพิธีแจกเครื่องอุปโภคบริโภค 


เนื่องในงานประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2567  จำนวน 20,000 ชุด ให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เดินทางมารอรับกันอย่างเนืองแน่น โดยสิ่งของที่แจกประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำปลา น้ำมันพืช ขนม ฯลฯ บรรจุถุงผ้ามูลนิธิฯ พร้อมมอบค่าพาหนะคนละ 100 บาท โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย แขกผู้มีเกียรติ ผู้แทนหน่วยงานในเครือมูลนิธิฯ และอาสาสมัครกิตติมศักดิ์ อาทิ  ดร.ปภัสรา เตชะไพบูลย์ นางศิริวรรณ โอภาสวงศ์  นางศิริพร โอภาสวงศ์ และ นายพลภัทร เตชะหรูวิจิตร ร่วมในพิธี ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ







     โดยบรรยากาศภายในงาน ได้มีผู้มีจิตศรัทธา ร่วมแจกจ่ายอาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนที่มารอรับสิ่งของ รวมถึงเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครมูลนิธิฯ จัดทีมดูแลประชาชนตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567  ที่ผ่านมา นอกจากนี้ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครศิลปิน นำโดย  นางดวงตา ตุงคะมณี  นายนพดล ทรงแสง (จิ้ม ชวนชื่น) นายธวัชชัย คชาอนันต์ (แฮ็ค ชวนชื่น) นายสวิช  เพชรวิเศษศิริ (บี๋)  นายปิยะวัฒน์ รัตนหรูวิจิตร (หรูหรา)  นางสาวพรชดา วราพชระ (มะเหมี่ยว)  นางสาวอาจารียา พรหมพฤกษ์ (หลิว)  ฯลฯ  ร่วมแจกจ่ายสิ่งของ แสดงดนตรี และสร้างสีสันภายในงาน โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และอิ่มเอมใจทั้งผู้ให้และผู้รับ








     นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เปิดเผยว่า งานประเพณีทิ้งกระจาด เป็นงานบุญที่สำคัญของชาวพุทธ ซึ่งปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ด้วยการนำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง มาเซ่นไหว้ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน และดวงวิญญาณที่ไร้ญาติ แล้วแจกเป็นทานแก่ผู้ยากไร้ เป็นงานบุญที่ครบทั้งการทำบุญและให้ทาน ซึ่งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้จัดทำสืบทอดประเพณีทิ้งกระจาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิฯ เป็นเวลากว่า 100 ปี  โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 10 สิงหาคม  และ 24 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ทำพิธีแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค ณ สุสานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร  และ คลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว สาขาโคราช จังหวัดนครราชสีมา และสาขาศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมงบประมาณการจัดงานประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2567 แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน ทั้ง 4 แห่ง เป็นจำนวนเงินกว่า 13.3 ล้านบาท





     ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปี มูลนิธิฯ ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา  เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง เพื่อเป็นองค์กร สาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ดังปณิธาน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”





     ติดตามข่าวสารกิจกรรม การช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

     มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขอบุญบารมีองค์หลวงปู่ไต้ฮง (ไต้ฮงกง) ดลบันดาลให้ผู้มีจิตศรัทธา เจ้าหน้าที่  อาสาสมัคร และครอบครัวของทุกท่าน ที่มีส่วนร่วมในงานมหาบุญมหากุศลนี้  มีความสุข ความเจริญ สุขภาพร่างกายแข็งแรงตลอดปี ตลอดไป

“มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”

ขอขอบคุณ

คุณ เปิ้ล และทีมงานฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

สนับสนุนข้อมูลข่าวสาร