วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567

สถาบันพระปกเกล้า เปิดอบรมหลักสูตร 4ส.ใต้ รุ่น 7 มุ่งสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 สถาบันพระปกเกล้า เปิดอบรมหลักสูตร 4ส.ใต้ รุ่น 7 มุ่งสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 



วันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่ห้องน้ำพราว 2 โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี​ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า จัดพิธี



นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า​ เป็นประธานเปิดการศึกษาอบรม และปฐมนิเทศหลักสูตรวุฒิบัตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่นที่ 7​​ พร้อมบรรยาย​ หัวข้อ “บทบาทสถาบันพระปกเกล้าและความคาดหวังและคุณลักษณะของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า (KPI-CDG)”  



โดยนายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล​ กล่าวรายงานชี้แจงภาพรวมหลักสูตรฯ พร้อม​แนะนำอาจารย์ประจำหลักสูตรฯ



จากนั้นในช่วงบ่ายผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ได้รับฟังการบรรยายหัวข้อ บริบทความขัดแย้งชายแดนใต้: ประวัติศาสตร์ สถานการณ์ จากอดีตสู่ปัจจุบัน” โดย ศ.ดร.ครองชัย หัตถา ภาคีสมาชิกราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง 



นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล​ กล่าวถึงการจัดหลักสูตรวุฒิบัตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ปีนี้นับเป็นรุ่นที่ 7 โดยหลักสูตรได้ดำเนินการ​จัดให้มีการศึกษา​อบรม​ ครั้งแรกในปี 2555 เป็นการนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติมาสู่การปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างความรู้ความเข้าใจของสังคมไทยโดยรวมและของจังหวัดชายแดนภาคใต้เรื่องการจัดการความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย



ที่ผ่านมา นักศึกษาที่เป็นผู้นำจากภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ที่จบการศึกษาไปแล้ว 195 คน ต่างก็ร่วมกันทำงานในรูปของกลุ่มนักศึกษา 4ส.ใต้ ตามลักษณะงานและความเชี่ยวชาญของตนเอง ในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ให้มีความต่อเนื่องและดำเนินไปในลักษณะที่จะตอบโจทย์ประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ




สำหรับ​นักศึกษารุ่น 7 นี้ มีผู้เข้ารับการศึกษารวมทั้งสิ้น 45 คน จากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ภาคการเมือง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ซึ่งจะสามารถเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้จริง เพื่อประโยชน์ของ​การพัฒ​นาสังคม​และ​ประเทศต่อไป

//

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น